ฟื้นท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ท่ามกลางความโกลาหล

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอกตกใจกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ หลายประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลับเริ่มวางแผน กำหนดมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกันแล้ว การเดินทางระหว่างประเทศเริ่มง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วน แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก็ยังจำเป็นต้องทำตามมาตรการป้องกันเข้มข้นที่ยังคงอยู่ต่อไป

บางประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 8 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ด้วยซ้ำไป อาทิ บาร์เบโดส แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคแคริบเบียน เป็นต้น

ปัญหาคือความสับสนที่เกิดขึ้นจากมาตรการของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกัน ทำให้นักเดินทางต้องศึกษาและเตรียมการก่อนเดินทางเป็นรายประเทศไป

โดยการท่องเที่ยว “บาร์เบโดส” ลดการกักกันโรคสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเหลือ 0-2 วันในโรงแรม ระหว่างนั้นยังสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติภายในโรงแรมที่กักตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนยังจำเป็นต้องผ่านการตรวจหาเชื้อ ซึ่งจะทำกันในวันที่ 5 ของการกักตัวเมื่อรวมกับระยะเวลารอผลการตรวจแล้ว คนที่ไม่ได้รับวัคซีนอาจต้องถูกกักตัวนานถึง 7 วัน ไม่ว่าผลการตรวจก่อนหน้าการเดินทางจะเป็นอย่างไร

ที่สำคัญก็คือ บาร์เบโดส ยังถือเอากลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งมีทั้งที่ฉีดแล้วและยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ไม่ต้องการแยกตัวจากกัน ให้เสมือนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนทั้งกลุ่ม ซึ่งแตกต่างกับอีกบางประเทศ

สำหรับ “ไอซ์แลนด์” เปิดรับคนที่ได้รับวัคซีนแล้วและคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว โดยยึดถือเอาปริมาณการแพร่ระบาดในประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น นักท่องเที่ยวในยุโรป รวมทั้งคนที่ไม่ได้รับวัคซีน กับอีกหลายประเทศอย่าง ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, รวันดา, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ หรือแม้แต่จากประเทศไทย สามารถเดินทางเข้าไอซ์แลนด์ได้ทันที หากมีผลการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งหลังสุดออกมาเป็นลบ และยอมกักตัวเอง 5-6 วัน เป็นต้น

ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับวัคซีนจากประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ห้ามเข้าเด็ดขาด

ด้าน “เบลีซ” ประเทศฝั่งตะวันออกของอเมริกากลาง เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ผู้ที่ยังไม่ฉีดต้องมีผลตรวจหาเชื้อเป็นลบทั้งก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึง ใครที่ผลเป็นบวกต้องกักตัว 14 วัน โดยออกค่าใช้จ่ายเอง

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวอย่าง “ฮาวาย” ที่ยังคงกำหนดให้มีผลตรวจเป็นลบก่อนเดินทางถึง ก็เตรียมเอื้อประโยชน์ให้กับนักท่องเที่ยวเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ฉีดวัคซีนแล้ว ด้วยการยกเว้นให้ลูก ๆ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไม่ต้องตรวจหาเชื้อ เป็นต้น

“กลอเรีย กูเอวารา” ประธานเวิร์ลด์ แทรเวล แอนด์ ทัวริสม์ เคาน์ซิล องค์กรการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในลอนดอน เชื่อว่าอีกไม่นาน มาตรการที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของการฉีดวัคซีนทำนองนี้ จะมีหลายประเทศก็จะนำมาปรับใช้ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้เร็วที่สุด

“แฮรี่ เนลสัน” ผู้ก่อตั้งบริษัทกฎหมายด้านการดูแลสุขภาพ เนลสัน ฮาร์ดิแมน ในสหรัฐ ชี้มาตรการเหล่านี้ “เป็นเหตุเป็นผล” และเชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่จะนำมาใช้กันไปพลางก่อนที่นำเอามาตรการวัคซีนมาใช้แบบเต็มตัวในอนาคต

แต่ถ้าถามว่า นโยบายทำนองนี้เป็นธรรมหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่

การกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงกันทั่วโลก ไม่เพียงต้องใช้ระยะเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา หรือในกลุ่มอายุบางกลุ่ม ซึ่งยังไม่มีวัคซีนให้ใช้ได้

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม “เวิร์ลด์ แทรเวล แอนด์ ทัวริสม์ เคาน์ซิล” ถึงไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนถึงจะเดินทางหรือท่องเที่ยวได้ แต่หันมาสนับสนุน “ดิจิทัล กรีน เซอร์ทิฟิเคต” แบบที่คณะกรรมาธิการยุโรปนำเสนอไว้แทน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้รับวัคซีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้หากต้องการ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเดินทางท่องเที่ยวบางคนแย้งว่า การสรุปว่าวัคซีนเป็นการเลือกปฏิบัตินั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะถึงที่สุดแล้ว มาตรการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของวัคซีนเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับคืนเข้าร่องเข้ารอยได้เร็วขึ้นเท่านั้น ยังถือเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดสำหรับคนเดินทางท่องเที่ยว และพลเรือนของประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนั่นเป็นความจริงของโลกในเวลานี้ ที่ทุกคนต้องยอมรับและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสภาพเช่นนี้ให้ได้นั่นเอง