ทุน “ไหลกลับ” ตลาดหุ้นสหรัฐ พลิกแซงจีนหลังเศรษฐกิจโตแกร่ง

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เมื่อไวรัสโควิด-19 ย้ายศูนย์กลางการระบาดใหญ่มายังสหรัฐอเมริกา ในขณะที่จีนเริ่มจะควบคุมสถานการณ์ได้ ตลาดหุ้นสหรัฐ “ดิ่ง” ลงรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลอย่างหนักหลังจากยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในอเมริกาสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

ขณะเดียวกัน จีนซึ่งเป็นต้นตอของไวรัส เศรษฐกิจสามารถพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีเดียวกัน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เงินลงทุนสะสมสุทธิใน “ตลาดหุ้นสหรัฐ” นับตั้งแต่ต้นปีที่แล้วไปจนถึงก่อนเดือนธันวาคมปีเดียวกันติดลบ ส่วนเงินลงทุนสะสมใน “ตลาดหุ้นจีน” กลับเป็นบวก

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่สัปดาห์หลังจาก “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต ชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมกับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ บวกด้วยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้เงินลงทุนไหลกลับสหรัฐ ส่งผลให้ยอดเงินลงทุนสะสมสุทธิจนถึงวันที่ 7 เมษายนปีนี้ พลิกกลับมาแซงจีน โดยอยู่ที่ 1.7 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่เงินลงทุนในตลาดหุ้นจีนอยู่ที่ 2.978 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเก็บรวบรวมโดยบริษัทวิจัยกองทุน อีพีเอฟอาร์ โกลบอล ซึ่งติดตามการลงทุนของกองทุนทั่วโลกมากกว่า 1 แสนกองทุน

ผู้บริหารของอีพีเอฟอาร์ฯระบุว่า แต่เดิมนักลงทุนคาดว่าจะลงทุนเพียงระยะสั้นในตลาดหุ้นสหรัฐ เพื่อตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฝ่าโควิด-19 ของรัฐบาล แต่เมื่อ “โจ ไบเดน” เข้าบริหารประเทศและเพิ่มมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ แต่ก็ยังคงวางท่าทีแข็งกร้าวกับจีน ซึ่งก่อให้เกิดความอึมครึมทางการเมืองสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์จีน จึงทำให้นักลงทุนเริ่มทบทวนมุมมองการลงทุนที่มีต่อจีนและสหรัฐเสียใหม่

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐก็พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ไปเรื่อย ๆ ส่วนตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้แทบไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ต่างจากก่อนหน้านั้นที่นักลงทุนหลายล้านรายทุ่มการลงทุนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้จนราคาหุ้นพุ่งทะยาน กระทั่งภาครัฐได้ออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม อีพีเอฟอาร์ฯชี้ว่า ในระดับโลกแล้วทั้งตลาดหุ้นจีนและสหรัฐ ก็เป็นเพียงสองแห่งที่สามารถดึงดูดนักลงทุนระหว่างประเทศได้มากที่สุดในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเชื่อว่าตลาดหุ้นจีนก็จะยังสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ต่อไป เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยยังมีความต้องการซื้อสินทรัพย์จีนอย่างแข็งแกร่ง

ดัชนีดาวโจนส์เมื่อวันที่ 8 เมษายน เพิ่มขึ้น 305.10 จุด หรือ 0.9% ปิดตลาดที่ 34,035.99 จุด ถือเป็นครั้งแรกที่ปิดตลาดเกิน 34,000 จุด ซึ่งเป็นหลักไมล์สำคัญ ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 1.1% ปิดที่ 4,170.42 จุด ทำสถิติใหม่เช่นกัน

ด้านแนสแดคซึ่งคึกคักมาตลอด ก็ยังคงเดินหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ปิดที่ 14,038.76 จุด หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่ง ทั้งการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและตลาดแรงงาน

โดยยอดขายค้าปลีกเดือนมีนาคมปรับขึ้นถึง 9.8% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 6.1% ส่วนยอดผู้ยื่นขอรับสวัสดิการเนื่องจากว่างงานมีเพียง 5.76 แสนราย ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะมี 7.1 แสนราย ต่ำที่สุดนับจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

“ไรอัน ดีทริก” หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดของแอลพีแอล ไฟแนนเชียล กล่าวถึงกรณีดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดเกิน 34,000 จุด ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เมื่อหวนคิดกลับไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราในช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ความยืดหยุ่นและความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และช่วยสนับสนุนเหตุผลที่ว่าทำไมตลาดหุ้นจึงทำสถิติสูงตลอดกาล

ทางด้าน “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ก็ได้กล่าวก่อนหน้านี้เช่นกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐมาถึงจุดเปลี่ยนอันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจจากรัฐบาล รวมทั้งการเร่งฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกัน เราอาจรู้สึกว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ นั่นคือไวรัสอาจระบาดอีกรอบ จะเป็นการฉลาดกว่าหากประชาชนสามารถรักษามาตรการป้องกันไวรัสทั้งการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากต่อไป