โจทย์ ‘แบงก์ชาติ’ ทั่วโลก เร่งผุด CBDC สู้คริปโทฯ

ขณะที่ “คริปโทเคอร์เรนซี” หรือสกุลเงินดิจิทัลอย่าง “บิตคอยน์” และ “อีเทอเรียม” กำลังมาแรงอย่างมาก ที่มีตั้งแต่นักธุรกิจชั้นนำของโลก จนถึงนักลงทุนรายย่อยแห่กันลงทุนซื้อ-ขาย

ขณะเดียวกัน “ธนาคารกลาง” ทั่วโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ซีบีดีซี” (Central Bank Digital Currency-CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

สำนักข่าวบาร์รอนรายงานว่า สาเหตุหลักที่หน่วยงานรัฐหลายประเทศเริ่มพัฒนาซีบีดีซีของตัวเอง เนื่องจากเทรนด์ของคริปโทเคอร์เรนซีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังเป็นภัยต่อระบบการเงิน “ดั้งเดิม” อย่างมาก

โดยสถาบันการเงิน “ซิตี้กรุ๊ป” คาดการณ์ว่า ปัจจุบัน “บิตคอยน์” มีมูลค่าในตลาดมากถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคริปโทเคอร์เรนซีดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางและหน่วยกำกับดูแลทางการเงินติดตามการทำธุรกรรมการเงินได้ยากขึ้น ซึ่งอาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้

นอกจากนี้ อาจเข้าไปขัดขวางการหมุนเวียนของเงินตราของประเทศนั้น ๆ หรือทำให้ระบบการฝากเงินเข้าธนาคารเข้าสู่วิกฤต หมายความว่า ผู้คนอาจหันไปถือคริปโทฯแทน เพราะเป็นระบบการเงินทางเลือก “เฮนรี่ อาร์สลาเนียน” ที่ปรึกษาผู้นำโกลบอลคริปโทฯ บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (พีดับบลิวซี) กล่าวว่า หากคุณเป็นธนาคารกลางแล้วคุณชอบบิตคอยน์ “คุณก็บ้าแล้ว”

ทั้งนี้ เงินดิจิทัลของธนาคารกลางจะมีความแตกต่างกับคริปโทเคอร์เรนซีตรงที่ ธนาคารกลางจะเป็นศูนย์กลางควบคุมระบบการเงินทั้งหมด และค่าเงินจะขึ้นหรือลงตามสกุลเงินเหมือนเงินสด รวมทั้งซัพพลายเงินไม่จำกัดตามนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ที่สำคัญ คือชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

สิ่งสำคัญ ซีบีดีซีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากซีบีดีซีสามารถทำการโอนเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ หรือตัวกลางอื่น ๆ ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจเข้ามาแทนที่การโอนเงินระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยให้มีการบันทึกธุรกรรมทางการเงินสำหรับคนไม่มีบัญชีธนาคาร ทำให้ธนาคารกลางสามารถติดตามเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

แต่ “คริปโทเคอร์เรนซี” อย่างบิตคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นด้วย “เทคโนโลยีบล็อกเชน” โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนที่เงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงิน และไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการซื้อ-ขายเพื่อเก็งกำไร

นอกจากนี้ รัฐบาลทั่วโลกกำลังเป็นห่วงว่าแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์อย่าง “เพย์พาล” ทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านคริปโทฯได้ง่ายขึ้น และยิ่งทำให้ติดตามการกระทำผิดกฎหมายอย่างการฟอกเงิน และหลีกเลี่ยงภาษี ได้ยากกว่าเดิม

“ความจริงแล้ว ซีบีดีซีจะช่วยต่อสู้กับการฟอกเงิน รวมถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นได้ง่ายขึ้น” อาร์สลาเนียนกล่าว

ขณะที่ทางด้าน “พีดับบลิวซี” ได้สำรวจข้อมูลและจัดอันดับการพัฒนาซีบีดีซี ประเภทใช้งานกับประชาชนแต่ละประเทศ พบว่าประเทศที่มีความคืบหน้ามากที่สุด อันดับ 1 คือ “บาฮามาส” มีซีบีดีซีชื่อว่า “แซนด์ดอลลาร์” (Sand Dollar) มีคุณสมบัติเหมือนสกุลเงินดอลลาร์บาฮามาส สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล

อันดับ 2 คือ “กัมพูชา” เป็นการพัฒนาร่วมกับบริษัทบล็อกเชนญี่ปุ่น “ซอระมิตซุ” เรียกระบบนี้ว่า “บากอง” (Bakong) มีลักษณะการใช้งานเหมือนกับแซนด์ดอลลาร์ แต่แตกต่างตรงที่ทำธุรกรรมทางการเงินโดยอิงสกุลเงินกัมพูชาเรียล หรือดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ บาฮามาส และกัมพูชา เป็นเพียง 2 ประเทศที่ใช้ซีบีดีซีแล้ว โดยรายงานข่าวระบุว่า เนื่องจากประชาชนจำนวนมากเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ และต้องการเร่งการใช้งาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาสำหรับประชาชนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร

ขณะที่ “ดิจิทัลหยวน” ของธนาคารกลางจีน (PBOC) ตามมาเป็นอันดับ 3 ที่มีการพัฒนาไปอย่างมากเช่นกัน จีนได้เริ่มมีการทดลองใช้งานดิจิทัลหยวนกับประชาชนที่เมืองเสิ่นเจิ้น, ซูโจว, เฉิงตู และกรุงปักกิ่ง โดยทดลองแจกดิจิทัลหยวนให้กับผู้โชคดีตามเมืองดังกล่าว

และยังมีรายงานว่า อาจใช้ดิจิทัลหยวนสำหรับงานโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งจะจัดขึ้นที่ปักกิ่ง ช่วงปลายปี 2022 บังคับการใช้จ่ายภายในงานทั้งหมดด้วยซีบีดีซีนี้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (ยูเค) อียู และอีกมากกว่า 60 ประเทศ ต่างกำลังสำรวจ และศึกษาข้อมูล สำหรับการพัฒนาซีบีดีซีของประเทศตนเอง

อย่างไรก็ดี การใช้งานจริงของซีบีดีซีคงยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะยังมีอุปสรรคด้านเทคโนโลยี และบางประเทศยังกังวลว่าระบบดังกล่าวอาจจะเข้าไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล