“อินเดีย” คุมเข้มบิ๊กเทค ออกกฎหมายบี้ ‘เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์’

FILE PHOTO: The Twitter and Facebook logos along with binary cyber codes are seen in this illustration taken November 26, 2019. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อควบคุม “บิ๊กเทค” โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ก” “อเมซอน” และ “ทวิตเตอร์” รวมถึงประเทศอินเดีย ที่แม้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่กำลังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการเข้มงวดที่สุดในโลก

“บาส์คาร์ ชาคราวิที” คณบดีคณะโกลบอลบิสซิเนส มหาวิทยาลัยทัฟส์กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียเริ่ม “ไม่ค่อยต้อนรับ” โซเชียลมีเดียของบิ๊กเทคมากขึ้นเรื่อย ๆ

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัฐบาลอินเดียใช้มาตรการต่าง ๆ เล่นงานบิ๊กเทคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การกำจัด “เฟกนิวส์” ไปจนถึงมาตรการป้องกันการผูกขาด

อย่างเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อินเดียผ่านกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลคุมเนื้อหา โดยสามารถสั่งลบคอนเทนต์ซึ่งรัฐบาลมองว่า “ผิดกฎหมาย” จากโซเชียลมีเดียได้ และบังคับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องส่งข้อมูลการแชตส่วนตัวไปให้ตามที่รัฐบาลต้องการ และล่าสุดได้เริ่มมีการใช้มาตรการดังกล่าวนี้จริง ๆ แล้ว

โดยกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลควบคุมเนื้อหาดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ไม่กี่วันหลังรัฐบาลอินเดียตำหนิ “ทวิตเตอร์” ว่า ไม่ยอมแบนแอ็กเคานต์ผู้ใช้งานมากถึง 1,100 แอ็กเคานต์ที่รัฐบาลระบุว่า ส่งต่อข้อมูลเท็จช่วงที่เกษตรกรทั่วประเทศออกมาประท้วง

เหตุผลหลักที่รัฐบาลอินเดียออกมาตรการโจมตีเหล่าบิ๊กเทค เนื่องจากต้องการให้ประชาชนหันมาใช้งานแพลตฟอร์มของอินเดียตามนโยบาย “เมดอินอินเดีย” ของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ซึ่งผลักดันผู้ประกอบการให้ตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับสินค้าอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก รวมถึงเชิญชวนผู้บริโภคให้ใช้บริการสินค้าภายในประเทศ

นโยบายดังกล่าวช่วยทำให้อินเดียมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองแจ้งเกิดมากมายอย่าง 60 เซกันด์ (60 second), แชร์แชต (Sharechat), เทรลล์ (Trell), คาบริ (Kahbri) และรูเตอร์ (Rooter) เป็นต้น

ชาคราวิทีระบุว่า อีกปัจจัยหนึ่งของการคุมเข้มบิ๊กเทค เพราะการควบคุมเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของบริษัทเหล่านี้ทำได้ยากกว่า ต่างจากสื่อดั้งเดิมหรือโซเชียลมีเดียของอินเดียเอง ซึ่งรัฐบาลจะสามารถเข้าควบคุมได้ง่าย

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ได้รับการติติงจากผู้สนับสนุนเสรีภาพในสื่อดิจิทัล เนื่องจากชัดเจนว่าต้องการเข้าควบคุมเนื้อหาข้อมูลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อสนับสนุนรัฐบาล

“อพาร์ กุปตา” ประธานองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งให้การสนับสนุนด้านสิทธิดิจิทัล (IFF) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเข้าควบคุมโซเชียลเดีย เพื่อให้กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวอาจเข้ามา “ลิดรอนสิทธิ” ของผู้ใช้แพลตฟอร์ม เพราะแพลตฟอร์มบิ๊กเทคทั่วโลกจะมี “เอนด์-ทู-เอนด์ เอ็นคริปชั่น” ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยในการแชตส่งข้อความ ไม่ให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงเนื้อหาของการแชตส่วนตัวได้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ไอเอฟเอฟมองว่า อินเดียต้องมีกฎหมายสำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อกำกับดูแลด้านต่าง ๆ ทั้งความปลอดภัยของผู้ใช้งาน, คัดกรองเนื้อหาเฟกนิวส์, ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้, สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมบนโลกออนไลน์ที่ปลอดภัย แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีจุดประสงค์เหล่านี้เลย

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าบิ๊กเทคจะไม่ตอบโต้ใด ๆ กับกฎหมายล่าสุดนี้ เนื่องจากประเทศอินเดียเป็นตลาดที่ยิ่งใหญ่มาก มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 600 ล้านคนทั่วประเทศ แต่กฎหมายดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อโซเชียลมีเดียรายย่อยของต่างประเทศที่ไม่สามารถทำตามกฎหมายนี้ได้มากกว่า