‘อินเดีย-ญี่ปุ่น-ออสซี่’ จับมือ สร้างซัพพลายเชนใหม่ ไร้เงาจีน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจในหลายประเทศหันมาทบทวนห่วงโซ่อุปทาน หรือ “ซัพพลายเชน” เนื่องจากหลายประเทศพึ่งพิง “จีน” ในฐานะผู้ส่งสินค้าและวัตถุดิบในการผลิตรายใหญ่เป็นหลัก แต่เมื่อจีนเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างหนักในช่วงต้นปี 2020 ส่งผลให้การส่งออกต้องหยุดชะงักหรือล่าช้าออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ หลายประเทศจึงเริ่มมองหาทางเลือกใหม่เพื่อลดความเสี่ยง

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น เปิดตัวโครงการริเริ่มความยืดหยุ่นระบบซัพพลายเชน (Supply Chain Resilience Initiative) หรือ “เอสซีอาร์ไอ” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง 3 ประเทศ โครงการดังกล่าวมีการหารือกันมาตั้งแต่ปลายปี 2019 โดยในระยะแรกจะเป็นการจับคู่ทางธุรกิจระหว่าง 3 ประเทศ พร้อมการดำเนินการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือด้านการลงทุน รวมถึงการสร้างซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อกระจายความหลากหลายและความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการส่งออกสินค้า ทั้งตั้งเป้าขยายประเทศสมาชิกในอนาคต โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“แดน เทห์แอน” รัฐมนตรีด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนออสเตรเลีย ระบุว่า “ญี่ปุ่นและอินเดียเป็นพันธมิตรสำคัญของออสเตรเลีย หวังว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นระบบซัพพลายเชนในภูมิภาของเรา”

ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวอ้างถึงจีน แต่เห็นได้ชัดว่าการริเริ่มเอสซีอาร์ไอ เป็นผลมาจากการที่หลายประเทศประสบปัญหาในการจัดหาและนำเข้าสินค้าจากซัพพลายเชนจีน โดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูปและเวชภัณฑ์สำคัญที่มีความต้องการสูงในภาวะโรคระบาด

นอกจากนี้ ทั้ง 3 ประเทศยังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลจีนในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลียที่มีข้อพิพาททางการทูต จนนำมาซึ่งการแซงก์ชั่นการค้ากับจีน ส่วนอินเดียก็มีข้อพิพาทพรมแดน โดยเฉพาะการเผชิญหน้าทางการทหารกับจีน ในดินแดนลาดักห์ในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ในประเด็นการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งยังคงไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้

ภายหลังการเปิดตัวเอสซีอาร์ไอ “จ้าว ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า “การผลักดันระบบซัพพลายเชนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมทั่วโลก และยังไม่เอื้อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย”

จ้าว ลี่เจียน ระบุด้วยว่า การสร้างซัพพลายเชนโลกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลก และหวังว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและปฏิบัติตามกฎการค้า พร้อมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม “มาร์ก โกห์” ผู้อำนวยการสถาบันโลจิสติกส์-เอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า เอสซีอาร์ไอจะช่วยให้ทั้ง 3 ชาติสามารถดำเนินนโยบาย “จีนบวกหนึ่ง” (China plus one) เพื่อสร้างซัพพลายเชนสำรองนอกประเทศจีนได้ นอกจากนี้ อินเดียยังอาจใช้เอสซีอาร์ไอเป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ผ่านทางออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้อีกด้วย หลังจากที่อินเดียปฏิเสธการเข้าร่วมอาร์เซ็ปไปก่อนหน้านี้