5 ยักษ์เทครับอานิสงส์โควิด รายได้ Q1 พุ่งถล่มทลาย

การระบาดของโรคโควิดทำให้ “ยักษ์เทค” สหรัฐมีผลประกอบการพุ่งสูงมาก จากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2021

“อเมซอนดอทคอม อิงก์” ทำรายได้สูงถึง 1.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 44% และมีกำไร 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 220% “แอปเปิล อิงก์” ทำรายได้ 8.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 53.7% และมีกำไร 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 110%

“อัลฟาเบต อิงก์” บริษัทแม่ของ “กูเกิล” ทำรายได้ 5.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 34% และมีกำไร 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 162% “ไมโครซอฟท์คอร์ปอเรชั่น” ทำรายได้ 4.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% และมีกำไร 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 44% และ “เฟซบุ๊ก” ทำรายได้ 2.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 48% และมีกำไร 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 94%

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ยักษ์เทคได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก ช่วงปีที่ผ่านมาผู้บริโภคปรับตัววิถีชีวิตให้เข้ากับนิวนอร์มอล อย่างหันไปเล่นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” มากขึ้น เพื่อให้ยังสามารถติดต่อกับผู้คนอยู่ได้

รวมถึงเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งนำมาสู่การที่ธุรกิจก็ลงทุนจ่ายเงินเพื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กและกูเกิลมากขึ้น เพื่อให้ตีตลาด เข้าถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอยู่บ้าน

ขณะเดียวกัน ผู้คนก็ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง “อเมซอนดอทคอม” มากขึ้น เพราะถูกล็อกดาวน์และไม่ต้องการเสี่ยงติดเชื้อออกไปช็อปปิ้ง และการที่หลายบริษัทมีนโยบายทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) ก็ทำให้ยอดขายซอฟต์แวร์ของ “ไมโครซอฟท์” และสินค้าของ “แอปเปิล” เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

ยักษ์เทคเหล่านี้ผลิตสินค้าและบริการที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ตั้งแต่การสื่อสาร ทำงาน ซื้อสินค้า ไปจนถึงความบันเทิง ตั้งแต่ก่อนโรคระบาดแล้ว และตอนนี้กลายเป็นว่าวิถีชีวิตนิวนอร์มอล ทำให้สินค้าและบริการดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจะเป็นอย่างไร ยักษ์เทคโนโลยียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยแหล่งข่าวยกตัวอย่างสินค้าของบริษัท “แอปเปิล” ซึ่งสามารถทำยอดขายช่วงไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วเกือบ 2 เท่าในจีน ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมาก็แทบไม่มีการระบาดของโควิดแล้ว

นอกจากนี้ การระบาดของโรคได้ทำให้เปลี่ยนเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยสิ้นเชิง รายได้เกือบทั้งหมดของเฟซบุ๊ก มาจากการโฆษณา ซึ่งถ้าหากยังสามารถทำรายได้โฆษณาเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าผู้บริโภคซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น และธุรกิจจะยังคอยโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ต่อไป

และโรคระบาดก็ได้ทำให้หลายบริษัทถือโอกาสเปลี่ยนโมเดลการทำงานมาในรูปแบบเวิร์กฟรอมโฮมแบบถาวรมากขึ้น แม้จะเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดของโรคแล้วก็ตาม ซึ่งจะยิ่งทำให้ความต้องการสินค้าที่อำนวยความสะดวกการเวิร์กฟรอมโฮม
ยังคงจะมีต่อไป

“โทมัส ฟิลิปปอน” อาจารย์ภาคการเงิน มหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า ยักษ์เทคได้เติบโตมาโดยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และช่วงโรคระบาดนี้ถือเป็น “ความโชคดี” อย่างมากของบริษัทเหล่านี้ และก็ยังจะเติบโตต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจจะทำให้การเติบโตของยักษ์เทคชะลอตัวได้ คือ มาตรการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศ ซึ่งช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงอีกหลายประเทศ กำลังร่างกฎหมายเพื่อมา “กำชับ” บิ๊กเทคมากขึ้น หลังเติบโตอย่างรวดเร็วมานานโดยแทบไม่มีกฎเกณฑ์ ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจจะเข้ามาส่งผลกระทบให้รายได้บางส่วนของบริษัทเหล่านี้ลดลง

ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลียที่ออกกฎหมายเพื่อบังคับให้โซเชียลมีเดียอย่างกูเกิล จ่ายเงินกับสำนักข่าวต่าง ๆ ตามลิงก์ของเนื้อข่าวที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งหลายประเทศกำลังจะออกกฎหมายลักษณะนี้ หรือสหรัฐที่กำลังพิจารณาออกคำสั่งบังคับให้
เฟซบุ๊ก “แยกกิจการ” ในเครือที่มีอยู่ออกเป็นอิสระจากกัน และอียูที่กำลังร่างกฎหมายแบนเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) บางระบบที่ทางการมองว่าเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ คือ “เซมิคอนดักเตอร์” ที่กำลังขาดแคลนทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสมาร์ทโฟน เป็นต้น