เปิด 10 สายพันธุ์โควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลก ติดตามอย่างใกล้ชิด

Photo by Mohammed ABED / AFP

แม้การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ไปเป็นสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นทุกวัน แต่ตอนนี้ องค์การอนามัยโลก กำลังติดตาม 10 สายพันธุ์โควิดที่ได้กลายพันธุ์ ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด

วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังติดตามการกลายพันธุ์ 10 สายพันธุ์โควิดที่ “น่าจับตามอง” และ “น่าเป็นห่วง” ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวระบุ แท้จริงแล้วการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ไปเป็นสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก ได้เข้ามาติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลกได้แบ่งการติดตามของสายพันธุ์โควิด-19 ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง” (variant of interest) และ “สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” (variant of concern)

สำหรับ “สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง” จะยังเป็นสายพันธุ์โควิด ที่ทางองค์การอนามัยโลกสนใจติดตาม แต่สำหรับ “สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” หมายความว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการระบาดที่รวดเร็ว รวมถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเชื้อโควิดเดิม รวมทั้งมีความเสี่ยงที่ว่า วัคซีนหรือการรักษาในปัจจุบัน จะไม่มีประสิทธิภาพพอต่อการต้านเชื้อไวรัสนี้

โดยทั้ง 10 สายพันธุ์แบ่งออกเป็น

“สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง” (Variant of interest) 7 สายพันธุ์ ได้แก่

– B.1617 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย 

– B.1525 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) และประเทศไนจีเรีย

– B.1427/B.1429 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

– P.2 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศบราซิล 

– P.3 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

– S477N ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

– B.1.616 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส 

“สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” (Variant of concern) 3 สายพันธุ์ ได้แก่

– B.1.1.7 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร

– B.1.351 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้

– P.1 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศบราซิล

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกำลังศึกษาสายพันธุ์ B.1617 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาผลกระทบของสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น หลังประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคที่รุนแรงมาก