จับตาเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ครั้งแรกหลังยุค ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ถึงจะยังไม่กำหนดวันเวลาแน่ชัด แต่คน “วงใน” ก็ยืนยันว่า การเจรจาการค้าระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีน” ครั้งแรก หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” พ้นจากวงจรอำนาจ กำหนดจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้แน่นอน เหตุผลสำคัญก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการให้มีการเจรจาครั้งนี้ขึ้นโดยเร็ว

“การเจรจาในระดับที่สามารถกำหนดหลักการได้อาจเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องทบทวนความคืบหน้าของความตกลง (การค้าระยะที่ 1) และจะได้ใช้โอกาสนี้ หยิบยกเอาความแตกต่างและความขัดแย้งมาวางให้เห็นกันบนโต๊ะเจรจา”

นั่นคือคำพูดของหนึ่งในสองคน “วงใน” ที่เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ นำมาอ้างอิงเอาไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้

เรื่องนี้ถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะอยากรู้กันมากว่า เอาเข้าจริงแล้ว นโยบายการค้าที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” มีต่อจีนนั้น แตกต่างจากแนวทางที่เคยดำเนินมาในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรบ้าง

หัวหน้าคณะเจรจาระดับสูงสุดของไบเดน คือ “แคตเทอรีน ไท” ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) คนใหม่ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนฝ่ายจีน หัวหน้าทีมเจรจาการค้าคงหนีไม่พ้น “หลิว เฮ่อ” รองนายกรัฐมนตรีจีนที่ทำหน้าที่หัวหน้าคณะมาตลอดช่วงสงครามการค้าที่ผ่านมา

ในช่วงเดือนเศษ ๆ ที่ดำรงตำแหน่ง แคตเทอรีน ไท พบหารือแบบเสมือนจริงกับตัวแทนทางการค้าของประเทศอื่น ๆ มาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของโลกเกือบทั้งหมด ยกเว้นที่เดียวคือ “ประเทศจีน”

การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐในระดับนี้ เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป

“แคตเทอรีน ไท” บอกไว้เมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า คาดหวังว่าจะได้ “ทำงานร่วม” กับ หลิว เฮ่อ ในอีกไม่ช้าไม่นาน

“ฝ่ายบริหาร ไบเดน-แฮร์ริส ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำให้ความสัมพันธ์นี้รุดหน้าต่อไป แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่กลัวที่จะแข็งกร้าว แล้วเราก็รู้ดีว่าต้องเป็นธรรมและต้องมุ่งยึดเอาอนาคตเป็นหลัก” เธอบอกไว้อย่างนั้น ก่อนที่จะยืนยันว่า แม้การทบทวนนโยบายการค้าต่อจีนของสหรัฐที่ผ่านมาของสำนักงานผู้แทนการค้ายังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็เฝ้าจับตาการดำเนินงานตามพันธะในความตกลงการค้าระยะที่ 1 ของจีนอย่างใกล้ชิด

ความตกลงการค้าระยะที่ 1 ลงนามกันเมื่อ ม.ค.ปีที่แล้ว มีผลบังคับใช้ในอีก 1 เดือนถัดมา แต่จนถึงขณะนี้สภาวะแวดล้อมทางการค้าเปลี่ยนแปลงไปมากมายในยุคของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในทรรศนะของ “ลู่ เซียง” นักวิจัยด้านความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ประจำไชนีส อะคาเดมี ออฟ โซเชียล ไซนซ์ เชื่อว่า ฝ่ายจีนน่าจะพยายามชี้ให้เห็นว่า หลายอย่างเช่น การซื้อสินค้าเกษตรจากจีนให้ได้ถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ ที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แล้วพยายามจะหาความกระจ่างให้ได้ว่า ในอีกเกือบปีที่เหลือตามข้อตกลงจะทำอย่างไรกันต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ สหรัฐอเมริกาในยุคไบเดน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกรณีสินค้าเกษตรนี้เท่าใดนัก ล่าสุดที่ยูเอสทีอาร์พูดถึงในส่วนที่เกี่ยวกับจีนโดยตรงกลับเป็นเรื่อง “สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา” (ไอพี) ซึ่งล่าสุดระบุว่า ยูเอสทีอาร์ยอมรับว่าจีนได้ปรับปรุงการให้ความคุ้มครองด้านไอพีได้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ “ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเต็มพิกัด ซึ่งจำเป็นต้องมีขึ้นหากต้องการให้ภูมิทัศน์ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในจีนดีขึ้น”

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ฉื่อ ยินหง นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน กลับมองว่า เวลานี้ความสัมพันธ์ด้านการค้า ลดทอนความสำคัญลงไปมาก ไม่ว่าจะมองในแง่ของจีนหรือในแง่ของสหรัฐอเมริกา ในประเด็นว่าด้วยเงื่อนไขของการซื้อสินค้าเกษตร ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก หากจีนยังจำเป็นต้องซื้อเนื้อ, ธัญพืช หรือพลังงานจากสหรัฐอเมริกาต่อไป

ในทำนองเดียวกันกรณีทางด้านไอพี อย่างมากที่สุดก็อาจจะได้เห็นจีนรับปากกับสหรัฐอเมริกาอีกครั้งว่า จะเพิ่มความเข้มข้นให้กับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้นไปอีก หากสหรัฐอเมริกาเห็นว่าที่ทำมายังไม่น่าพอใจ

ส่วนเรื่องการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อการลงโทษจีน ที่ทางจีนต้องการให้ยกเลิกนั้น ดูเหมือนว่าจีนเองก็ตระหนักดีว่า เป็นเรื่องยากที่สหรัฐอเมริกาจะยินยอม

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จีนรู้ดีว่า ฝ่ายที่มีปัญหามากที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ บริษัทอเมริกันที่นำเข้าสินค้าจีนนั่นเอง

โดยรวม ๆ ปัญหาการค้าจีน-สหรัฐ ถึงจะไม่ดีขึ้น แต่ก็ยากที่จะแย่ลงไปมากกว่านี้

ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าภาพรวมของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกาจะดีขึ้นแต่อย่างใด

เพราะปัจจัยของการเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันไม่ใช่เรื่องการค้าอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาทางการเมือง

เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะกรณีซินเจียง เรื่องทะเลจีนใต้และไต้หวันมากกว่านั่นเอง