สหรัฐติดกับดัก ‘แรงงาน’ ท่ามกลางเศรษฐกิจฟื้นตัว

แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 266,600 ตำแหน่ง น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มถึง 900,000-2,000,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าตัวเลขเมื่อเดือนมีนาคม ที่มีการจ้างงานเพิ่มมากถึง 770,000 ตำแหน่ง

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า อัตราการจ้างงานที่ลดลงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางที่ธุรกิจร้านอาหาร, ก่อสร้าง, เกษตรกรรม และอีกหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาปกติอีกครั้ง

“ริชาร์ด ฟลินน์” กรรมการผู้จัดการ (สหราชอาณาจักร) กลุ่มธุรกิจการเงินชาร์ลส์ ชวาบกล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานนี้ สร้างความกังวลต่อตลาดแรงงานสหรัฐ ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

ด้านหอการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USCC) ระบุว่า สาเหตุที่มีการจ้างงานลดลง เนื่องจากประชาชนเลือกที่จะว่างงาน เพื่อที่จะรับสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลว่างงาน 300 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์ แทนที่จะออกไปหางานทำ ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และได้มีการต่ออายุโครงการมา จนล่าสุดถูกยืดไปถึงวันที่ 6 กันยายนปีนี้

โดยสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านรัฐบาล ออกมาแสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า สวัสดิการนี้ทำให้ประชาชนไม่อยากออกมาทำงาน “เฮนรี่ แมคมาสเตอร์” ผู้ว่าการรัฐ
เซาท์แคโรไลนา พรรครีพับลิกัน กล่าวว่า จากเดิมที่โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ตอนนี้กลายเป็น สิ่งที่ทำให้ประชาชนอยู่บ้าน

ทั้งหอการค้าสหรัฐอเมริกา และฝ่ายค้านรัฐบาลมองว่า หากต้องการเพิ่มการจ้างงาน ต้องระงับโครงการสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลว่างงาน เพื่อกระตุ้นประชาชนออกไปทำงานให้มากขึ้น โดยผู้ว่าการรัฐมอนแทนา และรัฐเซาท์แคโรไลนา ได้ประกาศแล้วว่า จะยกเลิกโครงการสวัสดิการดังกล่าวภายในรัฐช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

แต่ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า สวัสดิการว่างงานนี้ไม่ได้ทำให้อัตราการจ้างงานเพิ่มหรือลดลง พร้อมกับระบุว่า หากสวัสดิการดังกล่าวเข้ามามีผลกระทบจริง เราจะเห็นอัตราการหางานลดลง ซึ่งแท้จริงแล้วอัตราการหางานเมื่อเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

“มาร์ตี้ วอลช์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สาเหตุที่การว่าจ้างงานลดลงไม่ใช่เพราะสวัสดิการของรัฐบาล แต่มาจากปัจจัยอื่นอย่างเช่น กลุ่มผู้ปกครองที่ยังต้องดูแลเด็ก ยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้ เนื่องจากสถานศึกษายังไม่กลับมาเปิดตามปกติ หรือประชาชนยังไม่ได้งานที่เหมาะสมสำหรับตนเอง

โดยวอลช์เสนอว่า วิธีที่จะสามารถกระตุ้นการว่าจ้างงานให้เพิ่มขึ้นได้ คือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่าง “อเมริกัน แฟมิลีส์ แพลน” ซึ่งมุ่งช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว อย่างสวัสดิการช่วยเหลือดูแลเด็กในครอบครัวในด้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางด้านตลาดแรงงาน ให้ผู้ปกครองที่เลี้ยงเด็กสามารถกลับไปทำงานได้

และ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังมองว่าสิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้คือ แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ “อเมริกัน จอบส์ แพลน” อย่างโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะมีส่วนที่ไปช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ ขณะที่ให้พนักงานมีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีพอ กระตุ้นให้คนมาทำงานได้

สำหรับการกระตุ้นการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศกำลังเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม ฝ่ายหนุนรัฐบาลมองว่าธุรกิจหรือบริษัทที่กำลังขาดแคลนแรงงานควรจะเพิ่มค่าจ้าง หรือมีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ กล่าวว่า หากสวัสดิการว่างงาน 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ เป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทคุณไม่สามารถจ้างแรงงานได้ น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้ขึ้นค่าจ้าง และปรับสวัสดิการให้ดีกว่านี้ได้แล้ว