รัฐบาล-บริษัททั่วโลก ‘เสียงแตก’ ปมละเว้นสิทธิบัตร วัคซีนโควิด-19

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเทศ “ร่ำรวย” สามารถสรรหาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับประชาชนได้รวดเร็ว และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศเหล่านี้เริ่มดีขึ้น แต่ประเทศที่ยากจนส่วนใหญ่ยังคงคุมการระบาดไม่ได้ รวมทั้งยังไม่สามารถหาวัคซีนเพื่อที่จะมาฉีดแก่ประชาชนภายในประเทศได้เพียงพอ

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างอินเดีย และแอฟริกาใต้ จึงเสนอองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า ควร “ละเว้นสิทธิบัตร” คุ้มครองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชั่วคราว จากเดิมที่สิทธิผูกขาดสิทธิบัตรมีระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปีนับจากวันยื่นจดสิทธิบัตร โดยระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่ไม่ปกติขนาดนี้ การละเว้นสิทธิบัตรจะเปิดช่องทางให้หลายประเทศเข้าถึงสูตรเทคโนโลยีของวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ประเทศยากจนสามารถผลิตวัคซีนเองและเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น

โดยล่าสุด “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ แถลงการณ์สนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นกัน โดย “แคเทอรีน ไท” ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กล่าวว่า ณ ขณะนี้ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสาธารณสุขครั้งใหญ่ กับการระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องมี “มาตรการขั้นสูงสุด” เพื่อควบคุมการระบาด และถึงแม้รัฐบาลสหรัฐจะเชื่อในการคุ้มครองสิทธิบัตรก็ตาม แต่เพื่อทำให้โรคระบาดนี้สิ้นสุดลง ทางรัฐบาลจึงสนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นการชั่วคราว

ส่วน “ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐถือเป็น “จุดยืนสำคัญ” สำหรับการต่อสู้กับโควิด และแสดงให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำแบบจริยธรรม” ท่ามกลางวิกฤต ขณะเดียวกัน “องค์การแพทย์ไร้พรมแดน” เอ็นจีโอซึ่งมุ่งช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาโรคระบาดระบุว่า การละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิดจะทำให้หลายประเทศมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการต่อสู้กับโรคระบาดนี้

แน่นอนว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ของโลก ไม่เห็นด้วยกับการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างมาก “อัลเบิร์ต บูร์ลา” ซีอีโอบริษัท “ไฟเซอร์ อิงก์” แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย โดยมองว่าจะทำให้เกิดการแย่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัคซีน ซึ่งจะเข้ามากระทบระบบซัพพลายเชนเดิมของฐานการผลิตวัคซีนของบริษัท

และ “สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์” (พรีม่า) ซึ่งมีไฟเซอร์และบริษัทผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายอื่นอย่างแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นสมาชิกระบุว่า การละเว้นสิทธิบัตรนี้หากผู้ผลิตอื่นนำไปพัฒนาวัคซีนเองโดยไม่ได้ทราบถึงเทคโนโลยีทั้งหมด หรืออาจไม่มีนวัตกรรมสำหรับการผลิตที่ดีพอ อาจนำมาสู่วัคซีนที่ไร้คุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจมากระทบกับภาพลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้นตำรับได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า การละเว้นสิทธิบัตรจะทำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนไม่อยากพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตอีกในอนาคต เช่น วัคซีนของไฟเซอร์ และ “โมเดอร์นา” ซึ่งได้พัฒนานวัตกรรมวัคซีนขึ้นมาใหม่ เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งการละเว้นสิทธิบัตรนี้ทำให้บริษัทไม่ได้รายได้จากการสร้างนวัตกรรมใหม่ เท่ากับการไม่ละเว้นสิทธิบัตร ดังนั้น อาจทำให้บริษัทไม่พัฒนานวัตกรรมในอนาคตท่ามกลางวิกฤต เพราะยังไงคนอื่นก็ลอกไปทำตามและมีรายได้จากตรงนี้อยู่ดี

ด้านผู้นำจากฝั่งสหภาพยุโรป (อียู) อย่าง “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และ “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แสดงจุดยืน “ต่อต้าน” การละเว้นสิทธิบัตรเช่นกัน และเสนอว่าแทนที่สหรัฐจะสนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตร ให้ไปเร่งส่งออกวัคซีนของสหรัฐที่มีเป็นจำนวนมากแทน ไม่ว่าจะผ่านโครงการโคแวกซ์ (covax) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมุ่งกระจายวัคซีนไปตามประเทศยากจน หรือทำข้อตกลงระหว่างประเทศส่งออกเพิ่มได้ รวมทั้งสหรัฐยังช่วยเหลือบริษัทเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนได้อีก

ขณะที่ทางการสหราชอาณาจักร (ยูเค) เสนออีกทางเลือกที่ทำได้ คือ การที่ผู้ทรงสิทธิบัตรให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ (voluntary licensing) ทำลักษณะเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้า ทำข้อตกลงกับบริษัท “สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย” (SII) ให้บริษัทนี้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้

“เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา” ผู้อำนวยการใหญ่ WTO กล่าวว่า เข้าใจข้อโต้แย้งทั้งสองฝ่ายในประเด็นการละเว้นสิทธิบัตร แต่สำหรับฝ่ายที่ต่อต้านการละเว้นสิทธิบัตรควรเสนอแนวทางกับ WTO ให้เร็วที่สุด ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น