ปัญหา ‘คอขวด’ เศรษฐกิจโลก ต้นทุนขนส่ง จีน-สหรัฐ พุ่ง 3 เท่า

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

นักวิเคราะห์และนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์กำลังวิตกอยู่ว่า ภาวะ “บูม” ของเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ของโลกที่ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว และกำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันถึงอยู่มากในเวลานี้ อาจเผชิญกับอุปสรรคที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็กำลังส่งสัญญาณออกมาให้เห็นอยู่ในเวลานี้

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้เป็นปัญหา “เชิงซัพพลาย” ไม่ได้เป็นเพราะดีมานด์ไม่มี หรือมีก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเหมือนเช่นในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ขาดแคลนในด้านซัพพลายครั้งนี้ มีให้เห็นชัดเจนที่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังสร้างความฮือฮา เพราะการขยายตัวในการบริโภคถีบตัวสูงขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกันปีต่อปี อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นและอุ้มกิจการธุรกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน”

แต่พอดีมานด์บูมขึ้นมา ในด้านห่วงโซ่ซัพพลายก็ปรากฏสภาวะ “คอขวด” ขึ้นมาให้เห็นชัดเจนอย่างยิ่ง

ปัญหาขาดแคลนอย่างแรกก็คือ การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ไม้ซุงไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่ “ต้นทุน” ในการจัดส่งสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกาถีบตัวสูงขึ้นรวดเดียว 3 เท่าตัว การจัดส่งสินค้าของซัพพลายเออร์ล่าช้า หนักหน่วงที่สุดในรอบหลายสิบปี

นอกจากเหตุผลเฉพาะสำหรับวัตถุดิบบางอย่างแล้ว เหตุผลโดยรวมที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นก็คือ ในช่วงปีเศษที่ผ่านมา หลายบริษัทลดหรือเลิกลงทุนด้านโลจิสติกส์ที่ดู “ไม่มีอนาคต” ในเวลานั้นไปหลายบริษัทมาก เรือขนส่งสินค้าจำนวนมากถูกปล่อยลอยลำเฉย ๆ อันเป็นจากสาเหตุของการล็อกดาวน์ จู่ ๆ ทุกอย่างก็กลับมามีความหมายอีกครั้งหนึ่ง แต่กว่าจะเข้าที่เหมือนเดิมก็คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

สหรัฐอเมริกายังมีปัญหาขาดแคลนอีกด้านนั่นคือ การ “ขาดแคลนแรงงาน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาจ้างงานใหม่ได้เพียง 266,000 ตำแหน่งต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านตำแหน่ง หรือเกินกว่านั้น

ประเด็นที่สำคัญก็คือ ในขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นแบบขอไปทีนั้น ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ในสหรัฐอเมริกากลับยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหมายความว่า บริษัทยังคงหาคนมาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้

นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันยังเถียงกันไม่เลิกว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไรกันแน่ จะเป็นเพราะว่า ผลประโยชน์จากการว่างงานที่รัฐบาลมอบให้ “ยอดเยี่ยม” เกินไปจนผู้คนไม่ยอมกลับเข้าทำงานหรือมองหางาน หรือเป็นเพราะแรงงานอเมริกันส่วนใหญ่กำลังรอคอยว่า อุตสาหกรรมไหน “กำลังจะตาย” และอุตสาหกรรมไหนกำลังรุ่ง ก่อนตัดสินใจกลับเข้าทำงาน ซึ่งแน่นอนจำเป็นต้องใช้เวลานานไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบขยายวงออกไปทั่วทั้งโลกอีกด้วย

ในทางหนึ่งนั้น ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาไปด้วยแน่นอน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ ผลผลิตโรงงานอุตสาหกรรมของจีน ในเดือน เม.ย.ขยายตัวเพียง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงชัดเจนมาจากระดับของเดือน มี.ค.ที่สูงถึง 14.1% ค้าปลีกขยายตัวเพียง 17.7% ทั้งที่คาดหมายกันว่าน่าจะสูงถึง 24.9% หลังจากที่เมื่อมีนาคมพุ่งขึ้นถึง 34.2 %

ในอีกทางหนึ่ง เมื่อดีมานด์ในสหรัฐอเมริกากำลังพุ่งทะยานสุด ๆ แต่กลับเจอปัญหาด้านห่วงโซ่การผลิตเป็น “ตัวถ่วง” ทำให้ตัวเลขอีกอย่างหนึ่งทวีความสำคัญขึ้นมาจนสูงสุด นั่นคือตัวเลขดัชนีชี้ภาวะ “เงินเฟ้อ”

ในเดือน เม.ย.ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นถึง 4.2% เมื่อเทียบกับ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันหน้าปั๊มขึ้นอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยเป็นเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระดับราคาในเดือน เม.ย.ปีที่ผ่านมา ถึง 272% แล้วก็ไม่ได้เป็นเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาที่เดียว แต่เกิดสภาพคล้าย ๆ กันขึ้นทั่วโลก เห็นได้จากระดับราคาหน้าโรงงานในจีน ที่พุ่งสูงขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พากันภาวนาก็คือ ภาวะคอขวดในด้านการผลิตจะได้รับการแก้ไขลุล่วงไปโดยเร็ว ดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดต่ำลง และทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญแต่อย่างใดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจยังไม่เข้าที่เข้าทางก็อาจพังพาบลงระหว่างทางก็เป็นได้เหมือนกัน