‘เทรนด์โลก’ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ประชากรเกิดน้อย-ดอกเบี้ยต่ำ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

แนวโน้มใหญ่อย่างหนึ่งของโลกที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง ก็คืออัตราการเกิดของประชากรต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะที่จำนวนคนชราเพิ่มขึ้น และไม่ช้าหลายประเทศก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประชากรเช่นนี้ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายมิติที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเตรียมรับมือ หนึ่งในนั้นก็คือผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่ออัตราการเกิดต่ำของประชากรนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดในประเทศร่ำรวย

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงประเทศร่ำรวยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว

ล่าสุดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน ซึ่งมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกก็ทำท่าว่าจะอยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา หลังจากสัปดาห์ก่อนจีนได้เปิดเผยว่า ณ ปีที่แล้ว จีนมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1.412 พันล้านคน มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ปีที่แล้วเพียง 12 ล้านคน หรืออัตราเติบโตเพียง 0.53% ต่ำสุดนับจากปี 1961

“เจสส์ เอ็ดเจอร์ตัน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เจพีมอร์แกน ระบุไว้ในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การที่ทั่วโลกมี “อัตราการเกิดประชากรต่ำ” ซึ่งเกิดขึ้นมานานนับสิบ ๆ ปี ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาจส่งผลกระทบใหญ่ต่อ “อัตราดอกเบี้ย” แท้จริง จะเห็นได้ว่าทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ซึ่งมีอัตราการเกิดประชากรต่ำและจีดีพีลดลง ขณะที่ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น อัตราดอกเบี้ยในประเทศเหล่านี้ล้วนแต่ต่ำลง

เอ็ดเจอร์ตันชี้ว่า เมื่อประเทศนั้น ๆ มีคนแก่มากขึ้น ก็จะออมเงินมากขึ้นเพื่อไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ขณะเดียวกันการมีประชากรหนุ่มสาวน้อยลง ก็จะมีคนต้องการไปกู้ยืมธนาคารเพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ และอื่น ๆ น้อยลง จึงกล่าวได้ว่ารูปแบบประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป กระทบอย่างมากต่ออัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยต่ำลงและทำท่าว่าจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ

นอกจากญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา จะมีอัตราการเกิดต่ำแล้ว ตอนนี้จีนก็ทำท่าจะอยู่ในสภาพเดียวกัน รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ ที่ในตอนนี้แม้จะมีอัตราการเกิดสูงอยู่ แต่ในอนาคตเมื่อประเทศเหล่านี้พัฒนาขึ้น ก็คาดว่าจะประสบปัญหาในแบบเดียวกัน

“เมื่ออัตราการเกิดประชากรต่ำ คนแก่มีมาก การออมสูง เงินไม่ถูกนำไปทำงาน หมายถึงว่ามีทุนส่วนเกินอยู่ในโลกของเรา และเงินส่วนเกินนั้นก็แสวงหาผลตอบแทน ดังนั้นมันก็จะไปกดให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง” นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนระบุและว่า ดังนั้นใครก็ตามที่กำลังอาศัยอยู่ในโลกที่อัตราการเกิดประชากรต่ำ ก็คาดหวังได้เลยว่าจะได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่าง ๆ น้อยลง

หนิง จีเจ้อ หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ยืนยันว่าแม้ปีที่แล้วจำนวนแรงงานของจีนอายุระหว่าง 16-59 ปี จะลดลงเกือบ 40 ล้านคนเหลือ 800 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2019 แต่ก็ถือว่าแรงงานยังมีเหลือเฟือเพราะมีการปรับปรุงโครงสร้างประชากรอย่างต่อเนื่อง

“อายุเฉลี่ยของประชากรจีนอยู่ที่ 38.8 ปี” ซึ่งถือว่ายังเป็นวัยหนุ่มสาวและกระฉับกระเฉง ค่าเฉลี่ยนี้เกือบจะเท่ากับประชากรอเมริกันซึ่งอยู่ที่ 38 ปี” หนิงระบุและว่า คุณภาพของประชากรวัยทำงานดีขึ้นค่อนข้างมาก และผลตอบแทนจากความสามารถของพวกเขาจะค่อย ๆ ปรากฏ

ผู้บริหารสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุด้วยว่า ขณะเดียวกันค่าเฉลี่ยการศึกษาของประชากรจีนที่มีอายุระหว่าง 16-59 ปี เพิ่มขึ้นจาก 9.67 ปีในปี 2019 เป็น 10.75 ปีในปีที่แล้ว อัตราการไม่รู้หนังสือก็ลดลงจาก 4.08% ในปี 2019 เหลือเพียง 2.67% ในปีที่แล้ว

เมื่อประชากรวัยทำงานค่อย ๆ ลดลงในแต่ละปี ก็มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปรับวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีไปด้วย ประชากรสูงวัยจะส่งเสริมการพัฒนา “เศรษฐกิจคนสูงวัย” ขยายการบริโภคผลิตภัณฑ์สำหรับคนกลุ่มนี้

ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ มาให้จีน