‘AT&T-อเมซอน’ เกมรุกสตรีมมิ่ง เขย่าบัลลังก์ Netflix-Disney+

ธุรกิจแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรงทั่วโลก ทั้งได้แรงหนุนมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 โดยที่ผู้นำตลาดยังเป็นของ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 208 ล้านคนทั่วโลก และ “ดิสนีย์พลัส” (Disney+) ของบริษัท วอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งล่าสุดมีสมาชิกทะลุ 100 ล้านคน ขณะที่ก็มียักษ์ใหญ่โดดเข้ามาร่วมวงในสมรภูมินี้มากขึ้น

และล่าสุด 2 ยักษ์สื่อของโลกอย่าง “เอทีแอนด์ที” และ “อเมซอน” ก็กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเดินเกมบุกในธุรกิจสตรีมมิ่งอย่างเต็มตัว เพื่อเปิดศึกกับ “เน็ตฟลิกซ์” และ “ดิสนีย์พลัส” โดยตรง

บีบีซีรายงานว่า บริษัท “เอทีแอนด์ที อิงก์” ยักษ์โทรคมนาคมสหรัฐ ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรในสังกัดด้วยการควบรวมธุรกิจ “วอร์เนอร์มีเดีย” กับ “ดิสคัฟเวอรี่” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทใหม่แห่งนี้อาจมีมูลค่ามากถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ธุรกิจของ “วอร์เนอร์มีเดีย” มีตั้งแต่ค่ายหนังวอร์เนอร์ บราเธอร์ส, ช่องทีวีเอชบีโอ, สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ไปจนถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “เอชบีโอ แมกซ์” ขณะที่ “ดิสคัฟเวอรี่” มีช่องทีวี “ดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล”, “แอนิมอลแพลนเน็ต” รวมทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “ดิสคัฟเวอรี่ พลัส”

นอกจากนี้ “วอร์เนอร์มีเดีย” ยังเป็นเจ้าของภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” และ “แบทแมน” ขณะที่ “ดิสคัฟเวอรี่” เป็นเจ้าของรายการทีวีหลากหลายประเภท ตั้งแต่รายการทำอาหาร สารคดีทางธรรมชาติ ไปจนถึงรายการวิทยาศาสตร์ ทำให้การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังเสริมความแข็งแกร่งทั้งในด้านของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และคอนเทนต์แบบครบวงจร

โดยทางเอทีแอนด์ทีแถลงการณ์ว่า สาเหตุที่ควบรวมกิจการทั้ง 2 เข้าด้วยกัน ก็เพื่อช่วยกันทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “เอชบีโอ แมกซ์” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 64 ล้านคน และ “ดิสคัฟเวอรี่ พลัส” ที่มียอดสมาชิก 15 ล้านคน สามารถเติบโตในตลาดสตรีมมิ่งของโลก และมีเนื้อหาคอนเทนต์หลากหลายที่จะช่วยส่งเสริมกัน โดยระบุว่าฝั่งธุรกิจวอร์เนอร์มีเดีย จุดเด่นคือ มีคอนเทนต์แบบมีสคริปต์ อย่างภาพยนตร์ซีรีส์ต่าง ๆ และการ์ตูนแอนิเมชั่น ขณะที่ธุรกิจดิสคัฟเวอรี่มีจุดแข็งในด้านเนื้อหาแบบไม่มีสคริปต์ อย่างสารคดีและรายการกีฬาต่าง ๆ

“จอห์น สแตนกีย์” ซีอีโอบริษัทเอทีแอนด์ทีกล่าวว่า การควบรวมยักษ์ธุรกิจบันเทิงทั้ง 2 ช่วยให้คอนเทนต์มีความ “แข็งแกร่ง” เพื่อที่จะวางโพซิชั่นของบริษัทให้กลายเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของโลก

ส่วน “เดวิด ซาสลาฟ” ประธานธุรกิจดิสคัฟเวอรี่ และเป็นผู้ที่จะรับตำแหน่ง “ซีอีโอ” ของบริษัทใหม่หลังการควบรวม กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับการควบรวมแบรนด์สื่อยักษ์ ซึ่งเต็มไปด้วยรายการข่าวชั้นนำของโลก และภาพยนตร์ภาคต่อต่าง ๆ ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับธุรกิจในอนาคตหลาย ๆ ด้าน

“แดน อิเวส” นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินเวดบุช ซีเคียวริตี้ส์ กล่าวว่า การควบรวมนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ของเอทีแอนด์ที ในการรุกตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับคอนเทนต์มาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง “เน็ตฟลิกซ์” และ “ดิสนีย์พลัส” ซึ่งก่อนหน้านี้ เอทีแอนด์ทีได้ซื้อธุรกิจวอร์เนอร์มีเดีย ก็ทำให้ได้เอชบีโอมาด้วย เป็นเหมือนการเตรียมพร้อม “ทุ่มสุดตัว” สำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน ทางบริษัท “อเมซอน.คอม” ก็กำลังเจรจาทาบทามเพื่อซื้อบริษัท “เมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์ สตูดิโอส์ อิงก์” หรือ “เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์” (MGM Studios) ด้วยมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งหากอเมซอนปิดดีลซื้อเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์ สำเร็จ จะทำให้บริษัทมีคอนเทนต์ที่คลาสสิกและหลากหลายของเอ็มจีเอ็มฯมาไว้บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “ไพรม์วิดีโอ” (Prime Video) ของบริษัท

ทั้งนี้ “เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์” เป็นหนึ่งในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์เก่าแก่ที่สุดของโลก ก่อตั้งมากว่า 97 ปี มีลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มากถึง 4,000เรื่อง และมีคอนเทนต์รายการทีวีรวมมากถึง 17,000 ชั่วโมง ตั้งแต่ภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง “กอน วิท เดอะ วินด์” รวมถึง “เจมส์ บอนด์” และ “เดอะฮอบบิท” นอกจากนี้ ยังผลิตซีรีส์อย่าง “แฮนด์เมดส์ เทล” และ “ทีน วูลฟ์” เป็นต้น

โดยเอ็มจีเอ็มฯได้ประกาศขายกิจการตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เป็นหนึ่งในสตูดิโอหนังที่ยังไม่ได้ถูกซื้อกิจการหรือควบรวม ตามเทรนด์ของสตูดิโอภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายแห่ง


ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสตูดิโอได้มีการพูดคุยกับ “เน็ตฟลิกซ์” และ “แอปเปิลอิงก์” รวมทั้งอีกหลายบริษัท แต่ไม่สามารถปิดดีลได้ เนื่องจากท่ามกลางศึกสงครามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ทำให้ราคาคอนเทนต์โดยเฉพาะภาพยนตร์ภาคต่อชื่อดังมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ