โมเดล ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ เครื่องมือการเดินทางใหม่

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว “วัคซีนพาสปอร์ต” ที่บันทึกหลักฐานการฉีดวัคซีน กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเดินทางในยุคโควิด

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า หลายประเทศได้พัฒนาวัคซีนพาสปอร์ตในแบบฉบับของตนเอง และมีการใช้งานจริงภายในประเทศแล้ว อย่าง “อิสราเอล” และ “เดนมาร์ก” ที่พัฒนาแอปพลิเคชั่น “กรีนพาส” และ “โคโรน่า พาส” ตามลำดับ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ได้รับวัคซีนครบ หรือมีผลตรวจโควิดเป็นลบ หรือติดโควิดและหายแล้ว สามารถเข้าใช้บริการสถานที่ต่าง ๆ ได้

นอกจากโครงการวัคซีนพาสปอร์ตในประเทศต่าง ๆ จะสามารถทำให้สถานที่หลากหลายประเภทสามารถกลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ “ลิซเบท นีลเสน” ประธานหน่วยงานด้านสุขภาพของเดนมาร์ก กล่าวว่า “โคโรน่า พาส” ทำให้รัฐบาลสามารถรับรู้ข้อมูลผู้ติดเชื้อได้เป็นรายชั่วโมง และทราบถึงจุดที่มีการระบาดของเชื้อ รวมทั้งที่อยู่อาศัยของบุคคลนั้น ซึ่งทำให้หน่วยงาน สามารถออกมาตรการป้องกันโรคได้เหมาะสม และรวดเร็ว

โดยสหภาพยุโรป กำลังเตรียมออกวัคซีนพาสปอร์ตชื่อ “อียู ดิจิทัล โควิด เซอร์ติฟิเคต” ซึ่งบันทึกข้อมูลเหมือนกับของอิสราเอลและเดนมาร์ก แต่แตกต่างที่มีไว้สำหรับการเดินทางระหว่าง 27 ประเทศของอียู โดยไม่ต้องมีมาตรการกักตัวก่อนเข้าประเทศ และจะสามารถเริ่มใช้งานระบบดังกล่าวได้ ภายในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะเดียวกัน อังกฤษที่มีแอปพลิเคชั่น “เอ็นเอชเอส แอป” ก็ได้เพิ่มฟังก์ชั่นโชว์หลักฐานการฉีดวัคซีนเพิ่มเข้าไป เพื่อรับรองว่าบุคคลนั้นได้ฉีดวัคซีนแล้ว โดยทางรัฐบาลกำลังพิจารณาการใช้ฟังก์ชั่นดังกล่าวสำหรับการเข้าสถานที่ต่าง ๆ ภายในประเทศ

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 300 สายการบิน ได้ออกวัคซีนพาสปอร์ตชื่อ “ไออาตา แทรเวล พาส” เป็นแอปพลิเคชั่นบันทึกเอกสารรับรองผลตรวจโควิด-19 หรือใบรับรองการรับวัคซีน ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่เปิดต้อนรับนักเดินทางที่มีข้อมูลผ่านไออาตา แทรเวล พาส ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ “เจ็ตบลู แอร์เวย์” ก็ประกาศกำลังทดลองวัคซีนพาสปอร์ตของบริษัทชื่อ “คอมมอน พาส” รวมทั้ง “ยูไนเต็ดแอร์ไลน์” ก็กำลังพัฒนาแอปพลิเคชั่นของสายการบิน ให้นักเดินทางสามารถจองเวลาตรวจโควิด ก่อนเดินทาง โดยผลตรวจเชื้อจะอัพโหลดลงบนแอปอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงในหลายด้านสำหรับ “วัคซีนพาสปอร์ต” ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวบนแพลตฟอร์ม และปัญหาที่ว่าบางคนอาจจะเข้าถึงวัคซีนพาสปอร์ตไม่ได้


ขณะที่ “องค์การอนามัยโลก” ก็ยังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวคิด วัคซีนพาสปอร์ต เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าวัคซีนสามารถป้องกันการ “แพร่ระบาด” ของโรคได้หรือไม่ และยังระบุด้วยว่า วัคซีนพาสปอร์ตจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว กับคนที่ไม่ได้ฉีด รวมถึงอาจทำให้บางคนรู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องรับวัคซีน แม้จะไม่ได้บังคับก็ตาม