สิงคโปร์-ไต้หวัน-เวียดนาม 3 แชมป์คุมโควิดสะดุดขา

ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ไต้หวัน สิงคโปร์ และเวียดนาม ถือเป็น 3 ประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม

แต่ล่าสุดเมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา การจัดอันดับของบลูมเบิร์ก ว่าด้วยการควบคุมสถานการณ์โควิด ประเทศ “สิงคโปร์” ตกลงมาจากอันดับ 1 มาอยู่ที่อันดับ 2 “ไต้หวัน” ตกมา 5 อันดับ อยู่ที่อันดับ 15 ส่วน “เวียดนาม” หล่นมาอยู่ที่อันดับ 23 ร่วงหล่นลงมาถึง 12 อันดับ หลังเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งการกลับมาระบาดที่สิงคโปร์

ทำให้ทางการต้องยกระดับมาตรการป้องกันอย่างการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน และรวมตัวกันได้ไม่เกิน 2 คน ทั้งต้องเลื่อนโครงการ “แอร์ แทรเวล บับเบิล” เดินทางระหว่างประเทศโดยไม่ต้องกักตัวกับฮ่องกง รวมถึงยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอย่าง “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” และ “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ที่เดิมจะจัดในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งทางการเคยระบุว่า โครงการและการจัดงานนี้จะช่วยเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างมาก

ขณะเดียวกัน “ไต้หวัน” ก็โดนโควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ ซึ่งสะเทือนอุตสาหกรรมการบริการอย่างมาก “หม่า เทียยิง” นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารดีบีเอส กล่าวว่า อุตสาหกรรมบริการของไต้หวันมีมูลค่าถึง 7.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ แต่จะเห็นตัวเลขที่ลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 นี้

โดยช่วงปีที่ผ่านมา ไต้หวันกลายเป็นศูนย์กลางจัดคอนเสิร์ตของโลก ศิลปินต่างบินมาเล่นคอนเสิร์ตที่ไต้หวัน ซึ่งตอนที่ยังควบคุมโควิดได้ ทำให้สามารถจัดคอนเสิร์ตพร้อมกับคนดูที่แทบจะเต็มฮอลล์ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป งานต่าง ๆ ถูกยกเลิก ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้มหาศาล

ด้านประเทศ “เวียดนาม” พบการระบาดของโควิด-19 ตามนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงาน 3 แห่งของบริษัท “ฟอกซ์คอนน์” ผู้ผลิตรายใหญ่ของแอปเปิล อิงก์ จนทำให้ต้องปิดโรงงานชั่วคราว รวมทั้งพบการระบาดในโรงงาน “ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” และ “แคนนอน” ด้วย

“ดิน เชาเจียง” นักวิเคราะห์โลจิสติกส์กล่าวว่า หากโรงงานไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าของแอปเปิล และหากการระบาดลากยาว “จีน” อาจได้รับอานิสงส์ตรงนี้ มาช่วยผลิตแทนเวียดนาม

อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบของทั้งสิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม คือเคยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศได้อย่างดีเยี่ยมช่วงปีที่ผ่านมา โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การระบาดของโรคโควิดจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และยังคงเชื่อมั่นว่าประเทศเหล่านี้จะสามารถควบคุมการระบาดได้อีกครั้ง

แต่ครั้งนี้รัฐบาลต่าง ๆ กำลังเจอกับ “โจทย์โควิดใหม่” เป็นการระบาดของโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอัตราการระบาดที่รุนแรง และรวดเร็วมากกว่าเชื้อโควิดเดิม ซึ่งอาจทำให้มาตรการตั้งรับของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้เช่นเดิม โดยเฉพาะสำหรับไต้หวันและเวียดนาม ที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปอย่างล่าช้า