50 บริษัทดิสรัปเตอร์ยุคโควิด ‘โรบินฮู้ด-คลับเฮาส์’ ติดอันดับ

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีธุรกิจใหม่ ๆ ที่ฉายแสงโดดเด่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี ได้จัดอันดับ “ซีเอ็นบีซี ดิสรัปเตอร์ 50” ประจำปี 2021 คือการจัดอันดับบริษัทหน้าใหม่ที่ก่อตั้งไม่ถึง 15 ปี และมีแนวโน้มเป็นบริษัทมหาชนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต จากโมเดลธุรกิจที่ขยายตัวตามเทรนด์เทคโนโลยีซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสามารถฝ่าฟันวิกฤตโควิดได้ รวมถึงยังมีตัวชี้วัดตามเกณฑ์ต่าง ๆ จากศักยภาพกำลังแรงงาน, ความหลากหลาย, การขยายตัวของบริษัท รวมทั้งจำนวนยอดขายและผู้ใช้

โดยบริษัทที่ครอง อันดับ 1 ได้แก่ “โรบินฮู้ด อิงก์” เจ้าของแอปพลิเคชั่น “โรบินฮู้ด” แพลตฟอร์มซื้อ-ขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เหตุผลที่ขึ้นแท่น เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ดึงดูดนักลงทุนรายย่อยใหม่จำนวนมากเข้าสู่ตลาดหุ้น รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญสร้างปรากฏการณ์ดันราคาหุ้น เกมสต็อป ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นที่ “ดิสรัปต์” กองทุนในวอลล์สตรีต จนทำให้ขาดทุนกันไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 2 “สไตรป์” บริษัทเทคโนโลยีที่คิดค้นระบบซอฟต์แวร์สำหรับการชำระเงินออนไลน์ ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก เช่น อเมซอนดอตคอม, ช็อปพิฟาย และอันเดอร์ อาร์เมอร์ นำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อต่อยอดกับแพลตฟอร์ม และยังเป็นพาร์ตเนอร์กับสถาบันการเงิน “โกลด์แมน แซกส์” และ “ซิตี้กรุ๊ป” สร้างแพลตฟอร์มบริการทางการเงิน โดยที่ “สไตรป์” สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังคนหันมาช็อปปิ้งออนไลน์

อันดับ 3 คือ “ดิสคอร์ด” แพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างกลุ่มบุคคล ผ่านการพิมพ์ข้อความ เสียง หรือวิดีโอ ซึ่งเป็นที่นิยมในเหล่านักเกมเมอร์ ซึ่งความนิยมก็เริ่มกระจายไปตามคอมมิวนิตี้ต่าง ๆ อย่างแฟนคลับงานกีฬา วงดนตรี รวมถึงนักลงทุน นอกจากนี้ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 รายได้หลักของดิสคอร์ด มาจากโมเดลธุรกิจ “ผู้ใช้พรีเมี่ยม” ที่มีฟีเจอร์การใช้งานเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก “เฟซบุ๊ก” และ “ทวิตเตอร์” ที่พึ่งรายได้หลักจากโฆษณา

อันดับ 4 “เซนติเนลวัน” บริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งมีลูกค้าอย่างบริษัท “เอสเต ลอเดอร์” และ “เจ็ตบลู แอร์เวย์” ซึ่งที่ผ่านมาระบบของเซนติเนลวัน สามารถปกป้องเหตุการณ์แฮกข้อมูลครั้งใหญ่ได้หลายครั้ง และสามารถปกป้องข้อมูลสำคัญได้อย่างดีเยี่ยม จนเป็นบริษัทที่ติดลิสต์นี้ ท่ามกลางการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น

อันดับ 5 คือ “ตีตี ชูสิง” แพลตฟอร์มบริการเรียกรถยนต์ของจีน ซึ่งตอนนี้เปิดบริการใน 14 ประเทศ มีผู้ใช้งานมากถึง 550 ล้านคน คนขับรถถึง 31 ล้านคน ซึ่งเตรียมเข้าไอพีโอในตลาดหุ้นวอลล์สตรีตด้วยมูลค่ามากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลิสต์เพราะการขยายตัวของธุรกิจที่รวดเร็ว รวมถึงการผลิตนวัตกรรมในอนาคต โดยกำลังพัฒนาบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับ

นอกจากเหล่าท็อป 5 นี้แล้ว ยังมีบริษัทอย่าง “โกเจ็ก” สตาร์ตอัพยูนิคอร์นแรกของอินโดนีเซีย ซึ่งให้บริการตั้งแต่เรียกรถ ฟู้ดดีลิเวอรี่ แพลตฟอร์มชำระเงิน ไปจนถึงโลจิสติกส์ ก็ติดอันดับ 18 ด้วยโมเดลธุรกิจ
ที่หลากหลาย ทำให้บริษัทสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และยังมีการพัฒนานวัตกรรม ต่าง ๆ รวมถึงการที่เพิ่งควบรวมกิจการกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “โทโกพีเดีย” ซึ่งยิ่งเสริมศักยภาพการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่าง “แกร็บ” ได้

สุดท้าย “คลับเฮาส์” แพลตฟอร์มสำหรับการพูดคุยผ่านเสียงที่มาแรงในปีนี้ ก็ติดอันดับ 33 หลังจากได้รับการสนับสนุนจากซีอีโอยักษ์ธุรกิจอย่าง “อีลอน มัสก์” และมีผู้ใช้งานที่แอ็กทีฟมากถึง 10 ล้านคนต่อสัปดาห์ ซึ่งโมเดลธุรกิจก็คือการที่ผู้สร้างห้อง จะสามารถได้เงินจากผู้รับฟังได้ และทางบริษัทก็จะหักส่วนต่างเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้พูดสามารถทำรายได้ด้วยตัวเอง ไม่เหมือนโซเชียลมีเดียอื่น ที่ช่องทางรายได้ต้องผ่านบริษัทใหญ่เท่านั้น