งบฯลงทุนไบเดน ‘บิ๊กเบิ้ม’ คุ้มค่า หรือ สิ้นเปลือง ?

ด้วยแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2022 ของสหรัฐซึ่ง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐแถลงการณ์มีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า งบประมาณดังกล่าว ประกอบไปด้วย แผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับ “อเมริกัน จอบส์ แพลน” มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับ “อเมริกัน แฟมิลีส์ แพลน” มูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านมนุษย์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหน่วยงานรัฐบาลอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยไบเดนได้เพิ่มงบประมาณดังกล่าวหลายด้าน อย่างเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษามากถึง 41% งบประมาณด้านสาธารณสุข 23% และเพิ่มงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 22% ขณะเดียวกัน กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิถูกตัดลดงบประมาณลง 10% และกระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเพียง 2%

“ถึงเวลาแล้วที่จะต่อยอดจากพื้นฐานที่วางไว้ และลงทุนไปกับประเทศ โดยสามารถอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ได้ว่า การลงทุนมูลค่ามหาศาลจะยกระดับพื้นฐานและเพดานทางเศรษฐกิจ” ไบเดนกล่าว

ทั้งนี้ ทางพรรคเดโมแครตฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล เห็นด้วยกับการต้องลงทุนไซซ์ “บิ๊กเบิ้ม” โดยเฉพาะช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 “จอห์น ยาร์มุทห์” ประธานคณะกรรมการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลก่อนหน้าออกมาตรการ “รัดเข็มขัด” มากเกินไป ลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวชาวอเมริกัน และเศรษฐกิจประเทศ โดยงบประมาณนี้จะแก้ปัญหา “เรื้อรัง” ดังกล่าวได้ นั่นก็คือการลงทุนกับหลาย ๆ ด้านของประเทศที่แท้จริงแล้วมีศักยภาพ แต่ได้รับการพัฒนาน้อยเกินไป รวมถึงจะเข้าช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ประธานคณะกรรมการงบประมาณวุฒิสภา กล่าวว่า งบประมาณนี้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสหรัฐ และจะช่วยสร้างหลายล้านอาชีพที่มาพร้อมกับค่าตอบแทนที่ดี รวมถึงลดความยากจนลงในประเทศได้

ทั้งนี้ ถึงแม้งบประมาณนี้จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มถึง 117% ต่อจีดีพีประเทศ ในปี 2031 แต่ “เซซิเลีย รูส” ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจไบเดน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีธุรกิจ จาก 21% เป็น 28% และนโยบาย “เมด อิน อเมริกา” ซึ่งจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับบริษัทที่ไปตั้งฐานการผลิตนอกประเทศ และส่งสินค้ากลับมาขาย รวมถึงการเพิ่มอัตรา “ภาษีคนรวย” อื่น ๆ จะช่วยทดแทนงบประมาณที่ขาดดุลได้และยังระบุว่า ช่วงนี้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะก่อหนี้เพิ่มได้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วยกับงบประมาณนี้อย่างมาก “มิตช์ แมคคอนเนลล์” ผู้นำเสียงข้างน้อยวุฒิสภา กล่าวคัดค้านว่า งบประมาณดังกล่าวสิ้นเปลือง ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้สำหรับโครงการที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการ “สังคมนิยม” ยิ่งทำให้ธุรกิจต่างอยากที่จะแข่งขันกันน้อยลง รวมถึงยังก่อหนี้ของประเทศ ยิ่งทำให้ขาดดุลยิ่งกว่าเดิม

“แลร์รี่ ซัมเมอร์ส” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ กล่าวเตือนว่า งบประมาณรายจ่ายสูงเป็นประวัติศาสตร์ อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการที่จะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

องค์กรวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ “ไบพาร์ทิซัน โพลิซี เซ็นเตอร์” กล่าวว่า ถึงแม้แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าสูง จะสำคัญต่อการแก้วิกฤตของประเทศในภาวะฉุกเฉิน แต่หากยังคงจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี “บิ๊กเบิ้ม” ขนาดนี้ต่อไป จะเป็นภัยต่อชาวอเมริกันรุ่นหลานในอนาคต เพราะก่อหนี้ให้กับประเทศไว้มหาศาล