ยักษ์น้ำมันตะวันตกโดน ‘ขัดขา’ OPEC+ สบช่องฉวยโอกาส

OPEC

ท่ามกลางความกดดันจาก “องค์กรสิ่งแวดล้อม” ให้บริษัทน้ำมันลดการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น กำลังเป็นประเด็นร้อนของบริษัทน้ำมันโดน “ขัดขา” บังคับให้ทำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น

เช่นกรณีศาลเนเธอร์แลนด์มีคำสั่งให้บริษัท “รอยัลดัตช์ เชลล์” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท “เอ็กซอนโมบิล” และ “เชฟรอน” กล่าวหาว่า ทั้ง 2 บริษัทเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง “ล่าช้า”

รอยเตอร์สรายงานว่า ขณะที่บริษัทน้ำมันแถบตะวันตก โดนกดดันให้ลดขนาดธุรกิจส่วนนี้ลง แต่องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือโอเปก รวมถึงประเทศรัสเซียจะเป็นประเทศที่กลับได้รับประโยชน์จากการกดดันตรงนี้

เนื่องจากกลุ่มโอเปก เช่น “ซาอุดีอารามโก” ยักษ์บริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบียไม่ได้ถูกกดดันให้เป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันฝั่งตะวันตกมีผลผลิตประมาณ 15% ของกำลังการผลิตทั่วโลก ขณะที่กลุ่มโอเปก และรัสเซีย มีผลผลิตประมาณ 40%

ขณะเดียวกัน “แอมริต้า เซน” ที่ปรึกษาด้านพลังงานบริษัท เอเนอร์จี้ แอสเปกส์ กล่าวว่า ความต้องการน้ำมันและก๊าซทั่วโลกจะยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่มาตรการที่มุ่งกดดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทแถบตะวันตกไม่สามารถลงทุนและพัฒนาไปยังธุรกิจน้ำมันและก๊าซมากได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว

โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เรียกร้องให้ทั่วโลกยกเลิกพัฒนาธุรกิจน้ำมันและก๊าซ แต่ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม หรือนโยบายที่ว่า หากจะผลิตลดลงจะลดความต้องการอย่างไร

“สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด” รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของทางไออีเอไม่ได้มีมาตรการออกมาบังคับชัดเจน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้อง และยังระบุด้วยว่า ทางซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันและก๊าซด้วยต้นทุนต่ำ จึงอยากให้โลกยอมรับได้แล้วว่า “เราจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมินี้”

และในการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสครั้งล่าสุดได้มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามที่เคยตกลงกันไว้เมื่อเดือน เม.ย. โดยจะกลับไปผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือน ก.ค.นี้ หลังความต้องการน้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณน้ำมันสำรองที่ถูกเก็บสะสมไว้กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว


โดยโอเปกพลัสคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปแตะที่ระดับ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 90.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน