“ทรัมป์” เยือน “อาเบะ” เจรจาหวังลดขาดดุลการค้า

AFP PHOTO / POOL / Kiyoshi Ota

“โดนัลด์ ทรัมป์” ออกทริปเยือนต่างประเทศที่ยาวที่สุดในการดำรงตำแหน่ง โดยเดินทางพบผู้นำเอเชียถึง 12 วัน ใน 5 ประเทศ ตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-14 พ.ย.

แม้ว่าตลอด 10 เดือนของการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ได้สร้างความไม่แน่นอนใจในหมู่ผู้นำประเทศเอเชีย โดยเฉพาะการถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางการค้าสำคัญระหว่างเอเชียและสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์รู้ดีว่าการเยือนครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งต่อสหรัฐ

ในวันที่ 6 พ.ย. ระหว่างเริ่มต้นทริปการเยือนที่ประเทศญี่ปุ่น ทรัมป์ได้แถลงร่วมกับอาเบะ ระบุชัดเจนว่าต้องการลดการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นให้เร็วที่สุด ก่อนที่ช่องว่างจะเติบโตไปมากกว่านี้ และจะกลายเป็นบ่อนทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่าง2 ประเทศ โดยเรียกร้องให้การค้าเป็นไปอย่างเสรี ยุติธรรม และแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกัน

“การค้ากับญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่การแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกัน แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตมันจะเป็นเช่นนั้น ผมมองอนาคตไว้ในแง่บวกมาก” ทรัมป์ระบุ “ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เปรียบการค้ามาตลอด”

โดยรายงานจากเดอะวอลล์สตรีต เจอร์นัล ที่ระบุว่า ในปี 2016 สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าญี่ปุ่นกว่า 70,000 ล้านเหรียญ ทรัมป์ยืนยันระหว่างการเยือนด้วยว่า “ข้อตกลงทวิภาคีฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นอาจจะเป็นข้อตกลงการค้าที่มากกว่าใคร ๆ คาดคิด”

ก่อนหน้านี้ “แอนดรูว์ หยาง” นักวิเคราะห์จากวอชิงตันโพสต์คาดการณ์เอาไว้ว่า ทรัมป์น่าจะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่กับญี่ปุ่น โดยเป็นข้อตกลงที่สหรัฐได้ประโยชน์กว่าเดิม ซึ่งอาเบะน่าจะไม่ปฏิเสธ แต่จะขอแลกเปลี่ยนด้วยการให้ทรัมป์พิจารณาข้อตกลงทีพีพีใหม่อีกครั้ง

โดยวันที่ 7 พ.ย. ทรัมป์จะเดินทางต่อไปเกาหลีใต้เพื่อพบประธานาธิบดี “มุน แจอิน” ซึ่งทรัมป์น่าจะล็อบบี้มุน แจอิน ให้เจรจาข้อตกลงทวิภาคีใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการเจรจาแก้ไขไปรอบหนึ่งเมื่อปี 2012 ทำให้สหรัฐเสียดุลเพิ่มกว่าเดิมเกือบครึ่ง

เช่นเดียวกับการเยือนประเทศจีน ทรัมป์เล็งเจรจาการขาดดุลการค้าในจีน โดยเฉพาะการแก้ไขอุปสรรคของธุรกิจอเมริกันในจีน ซึ่งในเวลาเดียวกันกับการเยือนของทรัมป์ จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“วิลเบอร์ รอสส์” พร้อมคณะผู้บริหารจากสหรัฐอเมริกา 29 ราย มาเยือนจีนด้วยเช่นกัน นี่ถือเป็นความพยายามของทำเนียบขาวในการสร้างการค้าซึ่งมองว่าเป็นธรรมระหว่าง 2 ประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากการเดินหน้าเจรจาการค้าใหม่ ทรัมป์จะเจรจาพันธมิตรเพื่อจัดการกับความแข็งกร้าวและการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ดังนั้น ทรัมป์ไม่น่าพลาดที่จะกดดัน


มุน แจอิน และ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ให้เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเปียงยางมากขึ้น ขณะเดียวกันทรัมป์ก็น่าจะใช้โอกาสเดียวกันนี้ เรียกร้องให้ประเทศอาเซียนร่วมมือด้วย