บททดสอบของ “มาครง” สร้าง “ฝรั่งเศส” สำหรับคนรุ่นใหม่

“เอ็มมานูเอล มาครง” คือชื่อประธานาธิบดีฝรั่งเศส วัย 39 ปี ที่สร้างประวัติศาสตร์ผู้นำอายุน้อยที่สุดเป็นคนแรกของประเทศ ชื่อของเขาปรากฏบนพาดหัวข่าวทั่วโลกในวันที่ได้รับเลือกตั้ง ในฐานะม้ามืด

มาครงเข้าดำรงตำแหน่งด้วยคะแนนนิยมที่ค่อนข้างสวย แต่สำหรับเมืองน้ำหอมที่ผู้คนเอาใจยาก ผ่านไปเพียง 100 วัน คะแนนนิยมมาครงกลับดิ่งลงกว่าเดิมนับสิบจุดจากนโยบายปฏิรูปแรงงานของเขา และคำวิจารณ์ว่าเขาอ่อนประสบการณ์ทางการเมือง พร้อมการตั้งคำถามว่า นโยบายที่ชูเพื่อผลักดันฝรั่งเศสให้เป็นชาติสตาร์ตอัพ และต้องการปฏิรูปให้ฝรั่งเศสเป็นชาติของคนรุ่นใหม่ จะไปได้ไกลแค่ไหน

“โจเซฟ ซี. สเทิร์นเบอร์ก” บรรณาธิการและคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ของเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ของยุโรป ได้เขียนวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เขามองว่าการเข้ามาของมาครงถือว่าถูกเวลา เพราะฝรั่งเศสต้องปฏิรูปประเทศให้เป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ ก่อนที่ประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและฝีมือด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ จะสมองไหลออกนอกประเทศไปหมดก่อน

ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยเบอร์กันดี ระบุว่า นักศึกษาปริญญาเอก 400 คน ที่จบการศึกษาระหว่างปี 2003-2008 มีมากถึง 57% ที่ยังอาศัยอยู่ต่างแดน โดย 1 ใน 3 อยู่ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันฝรั่งเศสมีอัตราว่างงานทั้งประเทศอยู่ที่กว่า 9% มากกว่าเกือบ 2 เท่าของเยอรมนี และไม่เคยลดต่ำกว่า 7% อัตราว่างงานสูงทำให้เด็กรุ่นใหม่ออกนอกประเทศไปแสวงหาโชคในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในฮ่องกงและลอนดอน ประชากรฝรั่งเศสราว 18.5% เป็นผู้ที่มีอายุ 15 ปี หรือน้อยกว่า ขณะที่เยอรมนีประเทศหัวเรือใหญ่แห่งสหภาพยุโรป มีเพียง 13% เท่านั้น

“เยอรมนีเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นเดียวกับญี่ปุ่นแล้ว ประชากรจะลดจำนวนลงอย่างมากในปี 2030 บอกได้เลยว่าตอนนี้อนาคตของยุโรปอยู่ที่ฝรั่งเศส อันที่จริง ฝรั่งเศสสามารถแข่งขันในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ การบิน และพลังงานได้ไม่เป็นรองประเทศอื่น” ส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ระบุ

เหตุผลของอัตราการว่างงาน เกิดจากความคิดที่จะรักษาตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมที่ใกล้ตายไว้ให้แรงงานอาวุโส ขณะที่อายุเฉลี่ยสำหรับการเกษียณงานนั้นถือว่าเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ โดยผู้ชายเกษียณงานที่อายุ 59.4 ปี และผู้หญิงที่ 59.8 ปี

ดังนั้นหากต้องการสร้างชาติิสำหรับคนรุ่นใหม่ ฝรั่งเศสจะต้องเลิกเป็นประเทศสำหรับคนรุ่นเก่า ต้องปฏิรูปแรงงาน หันมาสร้างงานสำหรับผู้มีความสามารถ เป็นงานที่คนรุ่นใหม่อยากทำ จะต้องสร้างพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ สนับสนุนให้กิจการเหล่านั้นมั่นคงพอที่จะจ้างงานและพัฒนาฝีมือของแรงงานอย่างต่อเนื่อง

หากทำได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่คนฝรั่งเศสเท่านั้นที่จะเลือกงานในประเทศ แต่รวมถึงแรงงานจากต่างชาติด้วย

ทั้งนี้ มาครงได้เริ่มนโยบายปฏิรูปแรงงานก้าวแรกไปแล้วในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ทั้งการปรับปรุงข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วมระหว่างลูกจ้างและนายจ้างเกี่ยวกับเงื่อนไขและการจ้างงาน เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและองค์กร การเพิ่มเงินทำขวัญเมื่อลูกจ้างถูกให้ออกจากงาน ขณะที่ด้านการศึกษา มาครงได้เริ่มโครงการนำร่องโดยลดขนาดห้องเรียนในระดับชั้นประถม ทำให้จะมีการจ้างงานครูมากขึ้น

และเนื่องจากนโยบายปฏิรูปของมาครงทำให้คนในประเทศเกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ทำให้เขาต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความสำเร็จเกิดขึ้นจริง ผ่านตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น อัตราว่างที่งานน้อยลง รวมไปถึงสัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาวะสมองไหลของฝรั่งเศสค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง ทั้งการที่ผลการทดสอบของแต่ละโรงเรียนดีขึ้น มีจำนวนคนที่จบจากโรงเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น และเข้าทำงานมากขึ้น

ดังนั้น นี่ก็ยังคงเป็นบททดสอบอีกยาวไกลของมาครง ว่าเขาจะสร้างชาติฝรั่งเศสสำหรับคนรุ่นใหม่สำเร็จหรือไม่