ฟื้นสัมพันธ์การค้าจีน-สหรัฐ ยังเต็มไปด้วย “ระเบิดเวลา”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างยิ่งในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือ การเปิดการเจรจาทางเศรษฐกิจและการค้าขึ้นระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีน” เป็นการหารือกันในระดับสูง ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี “หลิว เฮ่อ” ของจีน กับ “นางเจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา และ “นางแคเธอรีน ไท” ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์)

บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยดี แม้จะยังไม่มีผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็ทำให้จีนแสดงปฏิกิริยาในทางบวกออกมา ด้วยการระบุว่า การเจรจาทั้งสองครั้งในช่วงเวลาแค่ 2 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายได้ฟื้นฟู “การหารือซึ่งกันและกันตามปกติ” ขึ้นมาใหม่อีกครั้งแล้ว

“วิคเตอร์ กั๊วะ” นักวิชาการและอดีตนักการทูตชาวจีน ซึ่งเคยทำหน้าที่ “ล่าม” ให้กับ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” ในอดีต ระบุว่า การเจรจาดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณที่น่ายินดีอย่างยิ่ง และจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการหารือและเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่ายต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อีกหลายฝ่ายยังคงกังขาว่า การหารือที่ว่านี้จะนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกได้จริงหรือ ?

เพราะในสภาวะแวดล้อมขณะนี้ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังห่างไกลจากการกลับสู่สภาวะปกติอยู่มาก แถมบนเส้นทางสู่เป้าหมายดังกล่าวยังเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามอยู่เต็มไปหมดอีกด้วย

ปัญหาใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ จีนไม่เพียงยังได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาอยู่เท่านั้น ยังได้เปรียบในระดับที่เพิ่มสูงมากขึ้นอีกต่างหาก

ตัวเลขดุลการค้าของจีนประจำเดือน พ.ค. เดือนล่าสุด ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 7 มิ.ย.นี้ แสดงให้เห็นว่า ภาวะได้เปรียบดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็น 31,780 ล้านดอลลาร์ จาก 28,110 ล้านดอลลาร์ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

แม้ว่าจีนจะนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้นถึง 40.3% แต่ก็ส่งออกเพิ่มขึ้น 20.6% เช่นเดียวกัน

ถ้าย้อนไปช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ภาวะเกินดุลของจีนต่อสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 203,450 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 70.2%

“แคเธอรีน ไท” ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาคนใหม่ แถลงก่อนการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ว่า มีบางส่วนในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ “ไม่ดีนัก” และนับวันยิ่ง “สร้างความเสียหายอย่างมาก” ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

นั่นคือความสัมพันธ์ด้านการค้าซึ่ง “ไม่สมดุลอย่างมีนัยสำคัญ” ที่ไม่ได้เกิดจากความสามารถทางการค้าอย่างเดียว แต่ยังเกิดจาก “โอกาส” และ “การเปิดกว้าง” ที่ไม่เท่าเทียมอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ แคเธอรีน ไท ย้ำว่า “สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อนำเอาความสมดุลกลับคืนมายังความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน”

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” กำลังอยู่ระหว่างการ “ทบทวน” จุดยืนต่อจีนในทุก ๆ ด้านรวมทั้งด้านการค้า และยังไม่ได้ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายที่มีนัยสำคัญใด ๆ ต่อจีนแต่อย่างใด

นักการทูตระดับสูงที่รับผิดชอบภูมิภาคเอเชีย เพิ่งแสดงความคิดเห็นไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า สหรัฐกำลัง “เข้าสู่ยุคของการแข่งขันที่เข้มข้นกับจีน” สอดคล้องกับการที่รัฐบาลไบเดนประกาศเมื่อต้นเดือน พ.ค. ยังคงคำสั่งห้ามการลงทุนของบริษัทอเมริกันในบริษัทจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ยุค “สงครามการค้า” ของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ในเวลาเดียวกันก็ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พิกัดอัตราภาษีศุลกากร ระหว่างสองฝ่ายจะมีความเคลื่อนไหวคืบหน้าไปในเชิงบวก หรือมีการเตรียมการหารืเกี่ยวกับปมเงื่อนจำนวนมากที่ถือเป็น “แฟลชพอยต์” พร้อมที่จะระเบิดเปรี้ยงปร้างกลายเป็นความขัดแย้งตึงเครียดระลอกใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกรณีหัวเว่ย, ติ๊กต๊อก, วีแชท, เรื่อยไปจนถึงกรณีความขัดแย้งทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนอย่างประเด็นฮ่องกง, ซินเจียง, ไต้หวัน และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เป็นต้น

ประเด็นขัดแย้งที่ยังคาราคาซังเหล่านี้ คือกับระเบิดที่พร้อมจะทำลายปัจจัยบวกใด ๆ ในการฟื้นสัมพันธภาพของทั้งสองประเทศได้ในพริบตา ตราบใดที่ยังคงหาทางออกที่เหมาะสมไม่ได้