ราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี หวั่นกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ผลผลิตลดลง แต่เมื่อความต้องการฟื้นตัวหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 10 ปี

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยรายงานว่า ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง 12 เดือนในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยราคาอาหารเฉลี่ยในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 4.8% จากเดือน เม.ย. ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นรายเดือนสูงสุดใน 10 ปี และเพิ่มขึ้นถึง 39.7% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2020

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “อับดุลเรซา อับบาสเซียน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอฟเอโอ ชี้ว่า ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว เป็นผลมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่หดตัวมากในช่วงปี 2020 ที่สถานการณ์โรคยังรุนแรง ซึ่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักทั้งในด้านการผลิต การจ้างงาน และการขนส่ง

แต่ความสำเร็จในการควบคุมโรคของหลายประเทศส่งผลให้ความต้องการอาหารทั่วโลกกลับมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจีน ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรมากกว่าปริมาณที่มีอยู่ในตลาด ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนและเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกสูงขึ้น

ประเภทสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ “น้ำมันพืช” ซึ่งเดือน พ.ค. ราคาเพิ่มขึ้นราว 7% จากเดือนก่อน จากราคาของพืชวัตถุดิบที่สูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความต้องการถั่วเหลืองสำหรับผลิตไบโอดีเซลที่มากขึ้นก็มีส่วนทำให้ราคาพืชน้ำมันสูงขึ้น

ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 6.8% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งเป็นผลจากการเก็บเกี่ยวอ้อยในหลายประเทศที่ล่าช้า โดยเฉพาะอินเดีย ที่หยุดชะงักจากสถานการณ์โรคระบาด รวมถึงภัยแล้งในประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สุดในโลกอย่าง บราซิล ทำให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับเงินสกุลเรอัลบราซิลที่แข็งค่าขึ้นยังซ้ำเติมให้ราคาน้ำตาลจากบราซิลสูงขึ้น

ราคาธัญพืชก็เพิ่มสูงขึ้นราว 6% โดยเฉพาะข้าวโพด จากสถานการณ์ภัยแล้งในบราซิล ขณะที่ความต้องการข้าวโพดอาหารสัตว์ในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น กระทั่งสินค้าไม่เพียงพอ แต่คาดว่าสหรัฐผลิตข้าวโพดได้ปริมาณมากในฤดูร้อนนี้

ขณะที่ราคาของผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง เนื่องจากผลผลิตในจีนยังคงมีมากเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

ราคาอาหารที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงตามไปด้วย ซึ่งปัญหาดีมานด์มากกว่าซัพพลายยิ่งซ้ำเติมให้ “เงินเฟ้อ” รุนแรงขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ