เตือนปัญหา “เงินเฟ้อ” ระเบิดเวลาเศรษฐกิจโลก

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

 

การที่ทั่วโลกทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจก่อปัญหา “เงินเฟ้อ” ตามมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินเฟ้อในขณะนี้ กระแสเสียงของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า “ไม่น่าห่วง” เพราะจุดโฟกัสสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เศรษฐกิจที่อยู่ในสภาพปางตายฟื้นชีวิตกลับมาให้ได้ก่อน และเมื่อฟื้นแล้ว ขั้นต่อไปคือพยุงให้ยืนระยะได้นาน กระทั่งแน่ใจว่าแข็งแรงดีอย่างเดิม ค่อยถอนไม้ค้ำออกไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “เดวิด ฟอลเคิร์ต-แลนเดา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ และทีมงาน เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อยที่ออกมาเตือนว่า นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่า สามารถ “อดทน” ยอมรับเงินเฟ้อสูงได้เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่และครอบคลุม ดังนั้นจะไม่ใช้นโยบายการเงินตึงตัวจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับขึ้นตามเป้าหมายนั้น ตนและทีมงานเห็นว่าแม้ในระยะสั้นปัญหาเงินเฟ้อไม่น่าห่วง แต่ระยะยาวอาจก่อปัญหาร้ายแรง

นักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ชี้ว่า การที่เฟดรอให้เงินเฟ้อสูงตามเป้าหมายแล้วค่อยลงมือควบคุมนั้น จะถือว่าช้าไป เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของเศรษฐกิจที่จะแสดงออกในรูปของเงินเฟ้อ ซึ่งจะก้าวนำหน้าจนเฟดไม่สามารถรับมือได้ ในที่สุดจะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกชะงักงัน

“ความล่าช้าในการเข้าดูแลเงินเฟ้อ อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ระบบการเงินทั่วโลกตึงเครียด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือประเทศที่มีความเปราะบาง”

“ฟอลเคิร์ต-แลนเดา” บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการใช้มาตรการการเงินและการคลังพร้อมกันอย่างขนานใหญ่ และคงเป็นเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่าเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คงมีลักษณะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7% แต่บางครั้งก็สูงระดับสองหลัก เพราะในเวลานั้นมีการยกเลิกมาตรการควบคุมราคา ขณะที่ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูง เมื่อเงินเฟ้อทะยานสูง ก็ทำให้ “พอล วอล์กเคอร์” ประธานเฟดในขณะนั้น ต้องพยายามกดเงินเฟ้อลงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยสูงมาก ผลคือทำให้เศรษฐกิจถดถอย

“เราเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก เพราะขณะนี้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่สูงขึ้นกำลังซึมผ่านเข้าไปในเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว แม้ว่าจะเป็นเงินเฟ้อในแง่ตัวเลขบนแผ่นกระดาษ แต่ในที่สุดมันอาจไปเพิ่มความคาดหวังเงินเฟ้ออย่างที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 ความเสี่ยงก็คือหากมันฝังอยู่ในเศรษฐกิจแค่เพียง 2-3 เดือน ก็ยากที่จะควบคุม โดยเฉพาะในกรณีที่ยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับสูง”

นักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ยังชี้ว่า หากต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ จะสร้างความโกลาหลให้กับประเทศที่มีหนี้สูงอยู่แล้ว จนเกิดวิกฤตการเงินโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจตามไม่ทันต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาเฟดมีเป้าหมายจะ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” จนกว่าเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมาย คือ 2% อย่างยั่งยืน และเห็นว่าการที่เงินเฟ้อในปัจจุบันสูงกว่า 2% เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศต่างก็กล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ยังไม่เข้าใกล้เป้าหมาย

ด้าน “แจน แฮตเซียส” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมน แซกส์ สนับสนุนจุดยืนของเฟดที่ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะมีเหตุผลแข็งแกร่งสนับสนุน อย่างเช่นเมื่อผลประโยชน์จากการว่างงานที่รัฐจ่ายให้หมดกำหนดลง บรรดาพนักงานและลูกจ้างก็จะกลับไปสู่สภาพปกติ ช่วยให้แรงกดดันด้านค่าจ้างบรรเทาลง ส่วนการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในขณะนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความต้องการที่ไม่ปกติ ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สุดท้ายราคาต่าง ๆ จะลดลงจนเกือบใกล้เคียงปกติ