โรงงานชิป “ไต้หวัน” เจอปัญหาล้อม 3 ด้าน

“เซมิคอนดักเตอร์” หรือชิป เป็นสินค้าที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนทั่วโลก จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งพัฒนาการของยานยนต์ใหม่ ๆ ก็ทำให้ความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังเจอปัญหาผลผลิตที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ปัญหาขาดแคลนดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงขึ้น หลัง “ไต้หวัน” ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมหลักของไต้หวันที่มีมูลค่าถึง 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังเผชิญกับปัญหาที่รุมล้อมถึง 3 ด้าน ที่เสี่ยงกระทบต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และยิ่งซ้ำเติมปัญหาชิปขาดตลาดมากขึ้น

หลังจากสามารถคุมโควิด-19 มาได้เกือบปี ไต้หวันก็กำลังเผชิญกับการระบาดครั้งใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ล่าสุดพบการระบาดเข้าโรงงานแล้ว ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ได้ระบาดตามโรงงานที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่ได้ทำให้ทางการต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดของโรค สำหรับทุกโรงงานในไต้หวันอย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกันไต้หวันก็กำลังเผชิญกับ “ภัยแล้ง” รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้หลายโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวัน ต้องออกมาตรการประหยัดการใช้น้ำ เพื่อให้มีเพียงพอต่อการใช้งาน

นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปรากฏการณ์อากาศร้อนจัด ยังทำให้ไต้หวันเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และทำให้ไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง โดยเมื่อเดือนที่แล้วเกิดเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ขัดข้องทางเทคนิคด้วย

รายงานข่าวระบุว่า แม้โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์กำลังเจอปัญหารุมล้อมเหล่านี้ แต่บริษัท “นานยา เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่อันดับ 4 ของโลก ยังคงสามารถผลิตได้ตามปกติ

ทั้งนี้ นานยา เทคโนโลยีฯได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 และภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ทำรายได้ช่วงไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ได้มากถึง 639 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 20% และเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทประกาศจะลงทุนเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงภายในปี 2023

เพื่อตั้งรับกับปัญหาที่กำลังรุมเร้าโรงงานการผลิตในขณะนี้ โฆษกของนานยา เทคโนโลยีฯ กล่าวว่า ทางบริษัทได้ทำข้อตกลงกับโรงไฟฟ้าของรัฐบาลไต้หวัน ในการแจ้งเตือนทางโรงงาน กรณีหากจะเกิดปัญหาไฟดับ พร้อมกันนี้ทางบริษัทได้สำรองน้ำไว้เพียงพอสำหรับการผลิต รวมถึงมีนโยบาย “รีไซเคิล” นำน้ำกลับมาใช้ใหม่มากถึง 95%

รายงานข่าวระบุ จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีมาตรการอย่างรวมตัวกันได้ไม่เกิน 3 คน ทำให้โรงงานมี “กิจกรรม” ที่น้อยลง แต่บริษัทนานยาฯยังยืนยันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อการผลิต

ส่วน “ทีเอสเอ็มซี” หนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ระบุตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ทางโรงงานได้มีการรีไซเคิลทรัพยากรน้ำ และสำรองน้ำไว้เผื่อในสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว

นอกจากนี้บริษัท “ยูไนเต็ด ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คอเปอเรชั่น” หนึ่งในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกเช่กัน ระบุว่า ทางบริษัทมีมาตรการมากมายเพื่อปรับตัวกับสถานการณ์ที่ขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ทั้งยืนยันว่า ปัญหาต่าง ๆ ยังไม่มีผลกระทบต่อการผลิตของบริษัท

“เบรดี้ หวาง” นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยการตลาดไต้หวัน “เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช” ระบุว่า แม้จะเริ่มมีฝนตกบ้างช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะช่วยให้ภาวะขาดแคลนทรัพยากรน้ำไม่รุนแรง แต่แม้จะไม่มีฝนตก ไต้หวันก็จะให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และจะช่วยเหลือทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการผลิต

ทว่าหวางกล่าวว่า โรงงานผลิตอาจจะยังเจอปัญหา “ไฟดับ” บ้าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการผลิตเล็กน้อย ส่วนปัญหาโควิด-19 ระบาดเข้าโรงงาน ตอนนี้ผู้ผลิตหลายรายยังสามารถหมุนเวียนพนักงานและมีระบบที่ดี ที่ยังคงสามารถป้องกันการระบาดภายในโรงงานได้ ทำให้ยังไม่มีผลกระทบต่อการผลิต