ตลาดตกใจ “เฟด” เซอร์ไพรส์ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็ว

เจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานเฟด
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2021 ถูกตลาดและนักลงทุนเฝ้าจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่ง หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง จนทำให้ “เงินเฟ้อ” ขยับสูง จึงน่าจะเป็นเหตุให้เฟดหาทางควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งปรากฏว่าผลการประชุมครั้งนี้ แม้เฟดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากรอบเวลาเดิมที่เคยกำหนดไว้

หากดูจากคาดการณ์ส่วนบุคคลของกรรมการเฟดเกี่ยวกับกรอบเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ยชี้ให้เห็นว่า อาจร่นเวลาขึ้นดอกเบี้ยเป็นภายในปี 2023 และยังบ่งชี้อาจขึ้นถึง 2 ครั้ง ในปี 2023 จากเดิมที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย

ในส่วนของเงินเฟ้อ เฟดเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้อีก 1% ไปอยู่ที่ 3.4% หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี อย่างไรก็ตามยืนยันว่า แรงกดดันเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และยังคงมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาวจะยังอยู่ในเป้าหมาย คือ 2%

“เจมส์ แมคแคนน์” รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินเวสต์เมนต์ ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดคาดหวัง เพราะตอนนี้เฟดกำลังส่งสัญญาณว่า จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับจุดยืนก่อนหน้านี้ของเฟดที่อ้างว่าเงินเฟ้อสูงเป็นแค่เรื่องชั่วคราว

ขณะที่ “เจอร์โรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงหลังการประชุมว่า เงินเฟ้อที่สูงในขณะนี้เกิดจากการเปิดเศรษฐกิจและดีมานด์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจนซัพพลายตามไม่ทัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นอีก และคงระดับนั้นนานกว่าที่คาด แต่สุดท้ายแล้วจะปรับลดลงเอง นอกจากนี้ ยังเตือนว่าไม่ควรตีความเรื่อง dot plot ที่เป็นเครื่องมือแสดงแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยมากเกินไป เพราะไม่ใช่เครื่องมือทำนายที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยในอนาคต

ประธานเฟดกล่าวว่า เป้าหมายของเฟดเรื่องอัตราการจ้างงานและเงินเฟ้อมีความคืบหน้าและเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างฉับพลันและแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงประเมินว่า จีดีพีในปีนี้จะเติบโต 7% ปรับขึ้นจากเดิม 6.5% ส่วนอัตราการว่างงานยังคงเดิมที่ 4.5%

แถลงการณ์ครั้งนี้ของเฟดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจให้ความรู้สึกผ่อนคลายกว่าเดิมนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยครั้งที่ผ่าน ๆ มามักระบุว่า “การระบาดของโควิด-19 กำลังสร้างความทุกข์ยากต่อมนุษยชาติและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงทั่วสหรัฐและทั่วโลก” แต่ครั้งนี้แถลงการณ์ระบุว่า ความก้าวหน้าเรื่องการฉีดวัคซีน ทำให้ตัวชี้วัดกิจกรรมเศรษฐกิจและการจ้างงานแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากเฟดเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อและร่นกรอบเวลาขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลง โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดที่ 34,033.6 จุด ลดลง 265.66 จุด หรือ 0.8% โดยช่วงหนึ่งระหว่างซื้อขายลดลงมากถึง 382 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พีปรับลง 0.5% แนสแดค 0.2% เพราะนักลงทุนประเมินว่า เฟดจะใช้นโยบายตึงตัวมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอการซื้อพันธบัตรภายในปีนี้ ส่วนตลาดหุ้นเอเชียเช้าวันที่ 17 มิถุนายน ปรับลงเช่นกัน อาทิ นิกเคอิของญี่ปุ่นลดลง 1.11%

อย่างไรก็ตาม เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ เกี่ยวกับการลดวงเงินซื้อพันธบัตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยประธานเฟดกล่าวว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้จะแจ้งให้ตลาดทราบล่วงหน้า โดยการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป คณะกรรมการจะยังคงประเมินความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับเป้าหมายของเฟด ก่อนจะดำเนินการใด ๆ

ผลประชุมเฟดที่ถือว่าสร้างเซอร์ไพรส์ ให้กับตลาด ยังทำให้ “ค่าเงิน” ของประเทศ เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอ่อนค่าลง โดยเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าที่สุด 1.5% ตามมาด้วยริงกิตของมาเลเซีย เปโซของฟิลิปปินส์ และเงินบาท อ่อนค่าประมาณ 0.5% เป็นอย่างน้อยในแต่ละประเทศ ยกเว้นเงินหยวนออฟชอร์ของจีนแข็งค่า 0.2%