“อังกฤษ” ซบไหล่ออสเตรเลีย ยุคการค้าหลังออกอียู

สหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “เบร็กซิต” (Brexit) อย่างเสร็จบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2020 โดย “ข้อตกลงทางการค้า” ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้หมดอายุอย่างเป็นทางการ กล่าวคือสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่าง ๆ สิ้นสุดลงแล้ว

บีบีซีรายงานว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ได้พยายามหาข้อตกลงทางการค้าใหม่กับประเทศอื่น ๆ หลังออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป และล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ทำข้อตกลงการค้ากับประเทศ “ออสเตรเลีย” ถึงแม้จะยังไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดของข้อตกลงนี้ ที่ชัดเจนที่สุดคือทั้งสองประเทศจะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใน 15 ปี รวมทั้งไม่มีการจำกัดโควตาการนำเข้า รวมถึงจำนวนการส่งออกสินค้า

โดยข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ออสเตรเลียสามารถเข้าถึงตลาดอาหารของสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น โดยจะทำให้ฟาร์มใหญ่ ๆ ของออสเตรเลียสามารถส่งออกเนื้อสัตว์อย่างแกะและเนื้อวัวไปยังสหราชอาณาจักรได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้สหราชอาณาจักรสามารถส่งออกสินค้าและบริการไปยังออสเตรเลียได้ง่ายขึ้น และสินค้าชื่อดังอย่างรถยนต์, สกอตวิสกี้, คุกกี้บิสกิต และวัสดุเซรามิก จะมีราคาที่ถูกลงในประเทศออสเตรเลีย

เช่นที่ “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสหราชอาณาจักร ให้สามารถส่งออกไปยังออสเตรเลียได้เพิ่มมากขึ้น และชาวสหราชอาณาจักรจะสามารถเข้าถึงสินค้าขึ้นชื่อของออสเตรเลียได้มากขึ้นเช่นกัน

ขณะที่ “สกอตต์ มอร์ริสัน” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่า เมื่อข้อตกลงดังกล่าวสำเร็จแล้ว จะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และจะเป็นข่าวดีสำหรับภาคบริการของสหราชอาณาจักร สำหรับบริการทางการเงิน รวมทั้งจะเป็นข่าวดีสำหรับภาคเกษตรของทั้ง 2 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม “มินเนท แบทเทอร์ส” ประธานสหภาพเกษตรกรแห่งสหราชอาณาจักร เป็นห่วงว่า ข้อตกลงทางการค้าที่เกิดขึ้น จะเข้ามากระทบต่ออุตสาหกรรรมเกษตรฯภายในประเทศ เนื่องจากสินค้าเกษตรของสหราชอาณาจักรมีต้นทุนสูงกว่า จากมาตรการควบคุมที่เข้มงวดกว่า โดยแบทเทอร์สเตือนว่า หากทำข้อตกลงที่ “ผิดพลาด” สินค้าที่นำเข้าจากออสเตรเลียซึ่งมีราคาถูกกว่าจะเข้ามาทำให้ “ครอบครัวเกษตรกรสหราชอาณาจักรค่อย ๆ ล้มตาย”

และทางสหราชอาณาจักรก็มีกฎหมายที่คุ้มครองสินค้าเกษตรภายในประเทศที่เข้มงวดกว่าออสเตรเลียมาก และยังทำให้เกิดคำถามว่า คุณภาพสินค้าของออสเตรเลียจะต้องมีมาตรฐานเทียบเท่ากับสหราชอาณาจักรหรือไม่ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย, สิ่งแวดล้อม รวมถึงสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น

ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรขยายตัวเพียง 0.02% ในอีก 15 ปีข้างหน้า จากเมื่อปี 2019 สหราชอาณาจักรส่งออกสินค้าและบริการไปออสเตรเลีย 1.2 หมื่นล้านปอนด์ แต่สหราชอาณาจักรส่งออกสินค้าและบริการมากถึง 2.94 แสนล้านปอนด์ไปสหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ข้อตกลงการค้านี้ “ไม่คุ้มกับที่สหราชอาณาจักรจะเสีย”

ทั้งนี้ “ลิซ ทรัสส์” รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เกษตรกรสหราชอาณาจักรจะได้รับการคุ้มครองช่วง 10 ปีแรก โดยอัตราภาษีจะค่อย ๆ ลดลง ขณะเดียวกันอีก 5 ปีหลังจะยังคงมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสินค้าสหราชอาณาจักร โดยการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่อาจทะลักเข้ามาในตลาดของสหราชอาณาจักรได้

“ฉันจะคุ้มครองเกษตรกรสหราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้เสียเปรียบจากข้อตกลงดังกล่าว” ทรัสส์กล่าว

รายงานข่าวระบุข้อตกลงกับออสเตรเลียถือเป็นการนำร่อง การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี ยุคหลัง “เบร็กซิต” โดยขั้นต่อไปอาจเป็นการเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “CPTPP” ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสหราชอาณาจักร รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ได้มีโอกาสทำการค้ากับหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น

รวมทั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรก็ได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่น และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้ทำข้อตกลงทางการค้าใหม่กับประเทศยุโรปที่ไม่ใช่สมาชิกอียูอย่างนอร์เวย์, ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ไปแล้ว

และจากนี้สหราชอาณาจักรก็จะเป็น “นก” ที่บินอย่างเสรี เตรียมเจรจาข้อตกลงการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กับอีกหลายประเทศ หลังไม่มีข้อผูกมัดกับอียู