เอฟเฟ็กต์ เงินเฟ้อสหรัฐสูง หุ้นปรับฐาน 20%-บอนด์ยีลด์พุ่ง

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

 

เงินเฟ้อสหรัฐกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวมากที่สุดสำหรับตลาดและนักลงทุนในขณะนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐปรับขึ้นสูงตามการร้อนแรงของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากวิกฤตโควิด-19 โดยประเมินว่าปีนี้เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3.4% ดังนั้น ความกังวลมากที่สุดของตลาดคือเกรงว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่ากำหนด เห็นได้จากผลการประชุมรอบล่าสุดของเฟดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2023 แทนที่จะเป็นปี 2024

ทันทีที่ผลประชุมเฟดออกมา ทำให้ดัชนีดาวโจนส์วันที่ 16 มิถุนายน ปรับลง 265 จุด หรือ 0.8% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนตกใจมากยิ่งขึ้นเมื่อนายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ออกมาระบุว่า โดยส่วนตัวคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปลายปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ขยับตัวขึ้นเกินกว่าเป้าหมายของเฟด ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์วันที่ 18 มิถุนายนดิ่งหนักที่สุดนับจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยร่วงลง 533.37 จุด หรือ -1.58% ปิดที่ 33,290.08 จุด

ถัดจากการแสดงความเห็นของนายบุลลาร์ด ตลาดและนักลงทุนจับตามองไปที่การให้ถ้อยคำของ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟดต่อคณะอนุกรรมาธิการวิกฤตโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เพื่ออัพเดตสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นเงินเฟ้อที่ขยับสูง โดยประธานเฟดยืนยันว่า เงินเฟ้อที่ขยับขึ้นในขณะนี้เกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ อย่างเช่น ตั๋วเครื่องบิน ราคาห้องพักในโรงแรม และความต้องการโดยทั่วไปของผู้บริโภคที่พุ่งสูงหลังจากถูกจำกัดหรืออั้นเอาไว้ในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อเหล่านี้จะบรรเทาลงไปเองในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ระดับเงินเฟ้อยังเป็นไปตามเป้าหมายของเฟดคือไม่เกิน 2%

กรรมาธิการจากพรรครีพับลิกัน พยายามถามกดดันนายพาวเวลล์หลายครั้งว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้จะนำไปสู่เงินเฟ้อสูงมาก (hyperinflation) เหมือนทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ที่สูงเกิน 10% หรือไม่ ซึ่งประธานเฟดตอบว่าสถานการณ์แบบนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะมีสินค้าและบริการบางหมวดเท่านั้นที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลิตหรือซัพพลายไม่สามารถตามทันความต้องการที่พุ่งขึ้นฉับพลันหลังจากเปิดเศรษฐกิจ

ทางด้านมุมมองจากนักวิเคราะห์ภาคเอกชน เช่น “ไมเคิล ชูมักเกอร์” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนมหภาคบริษัทหลักทรัพย์เวลส์ ฟาร์โก เชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อสูงอาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐขยับขึ้นสู่ระดับ 2.2% ภายในสิ้นปีนี้ เพราะเรายังไม่เคยเห็นเงินเฟ้อสหรัฐทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานานอย่างนี้มาก่อน ดังนั้น เป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าแทนที่จะเป็นปี 2023

“มาร์ก แซนดิ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ มูดี้ส์ อนาไลติกส์ เตือนนักลงทุนว่าขณะนี้อุปสรรคสำหรับตลาดหุ้นกำลังก่อตัว เพราะเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งมากเสียจนเฟดอาจต้องเปลี่ยนเกียร์ไปในทางเข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานประมาณ 10-20% และเป็นไปได้ที่การปรับฐานกำลังเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ เห็นได้จากนักลงทุนเริ่มตกใจกลัว อย่างไรก็ตาม หากครั้งนี้ตลาดหุ้นปรับฐานลงไปแล้วจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มูลค่าหุ้นค่อนข้างสูง คาดว่าอาจใช้เวลาถึง 1 ปีก่อนราคาหุ้นจะคืนสู่จุดเสมอตัว

สัปดาห์ที่แล้วดัชนีดาวโจนส์ปรับลงรวม 3.45% แย่สุดนับจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำผลงานแย่ที่สุดนับจากปลายเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน ดัชนีดาวโจนส์ดีดกลับมา 1.5% ซึ่ง “โมฮัมเหม็ด เอล-เอเรียน” หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอัลลิอันซ์ระบุว่า เหตุที่ตลาดหุ้นยังฟื้นกลับมาได้เป็นเพราะนักลงทุนเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และเฟดจะไม่รีบลดวงเงินซื้อพันธบัตร อย่างไรก็ตาม มุมมองเช่นนั้นของนักลงทุนเป็นเรื่องผิด เพราะหากดูจากสัญญาณที่ส่งออกมาจากกรรมการเฟด เชื่อว่าเฟดจะเริ่มนโยบายการเงินเข้มงวดเร็วกว่าตลาดคาด