อินเดียเร่งสางปม ‘หนี้เสีย’ ก่อนท่วมระบบแบงก์

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“อินเดีย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มี “หนี้ด้อยคุณภาพ” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “หนี้เสีย” มากที่สุดในโลก

ปริมาณหนี้เสียในอินเดียสูงมากจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า เศรษฐกิจของอินเดียเมื่อปี 2019 จะขยายตัวสูงกว่า 4.2% มาก ถ้าหากไม่มีปัญหาหนี้เสียเป็นตัวถ่วง

สภาพหนี้ด้อยคุณภาพของอินเดียยิ่งเลวร้ายหนักข้อขึ้นไปอีก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ ธนาคารกลางของอินเดีย (อาร์บีไอ) ประกาศเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมปี 2020 เปิดให้ลูกหนี้ทั้งที่เป็นกิจการธุรกิจและเป็นตัวบุคคลสามารถ “ยืดชำระหนี้” ออกไปได้ โดยไม่ถือว่าเป็นหนี้เสียที่ชำระช้ากว่ากำหนด

ปัญหาก็คือ ประกาศดังกล่าวสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม ทำให้คาดกันว่า หนี้เสียจะพุ่งขึ้นเป็นปริมาณมหาศาลหลังจากการสิ้นสุดการผ่อนปรนดังกล่าว

กระทรวงการคลังอินเดียตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงเตรียมนำเสนอแผนจัดตั้ง “สถาบันบริหารสินทรัพย์” ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “แบดแบงก์” ขึ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเริ่มรับหนี้เสียจากธนาคารต่าง ๆ เข้ามาบริหารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

สถาบันที่ว่ามีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บริษัทฟื้นฟูสินทรัพย์แห่งชาติ” (National Asset Reconstruction Company Limited-NARCL) ไม่ได้เป็นแนวคิดของรัฐบาลโดยตรง แต่ริเริ่มโดยสมาคมธนาคารแห่งอินเดีย (ไอบีเอ) ที่ผลักดันจนคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับเรื่องนี้ เพื่อให้ “เอ็นเออาร์ซีแอล” ทำหน้าที่แยกเอาหนี้เสียออกจากระบบธนาคาร มากองรวมกันเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับระบบธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถดำเนินกิจการปล่อยกู้ในระบบเศรษฐกิจต่อไปได้

ข้อมูลของบลูมเบิร์กระบุว่า แบดแบงก์ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสะสางปัญหาหนี้เสียนี้ มีแนวโน้มต้องรับมือกับปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพมหาศาลถึงราว 2 ล้านล้านรูปี หรือราว 27,000 ล้านดอลลาร์ ที่คิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของหนี้เสียทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจอินเดีย

ปัญหาคือนักวิเคราะห์และนักลงทุนทั้งหลายยังคงไม่เชื่อมั่นว่า แบดแบงก์ที่ก่อตั้งขึ้นนี้จะสามารถเอาชนะปัญหาหนี้เสียที่อินเดียมีอยู่ และช่วยให้ระบบสถาบันการเงินกลับมามีเสถียรภาพใหม่อีกครั้งได้

ตราบใดที่พื้นฐานของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

ในความเห็นของผู้สันทัดกรณี พื้นฐานของปัญหาหนี้เสียอยู่ที่ “กฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย” ซึ่งอินเดียประกาศใช้เมื่อปี 2016 ยังไม่ดีพอ และจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข

และสถานการณ์จะยิ่งแย่มากขึ้นไปอีก หากแบดแบงก์ที่จัดตั้งขึ้นมา มุ่งทำหน้าที่เพียงส่วนเดียว คือ การแยกเอาหนี้เสียออกจากระบบธนาคาร เหมือนกับโกดังเก็บหนี้ แทนที่จะทำหน้าที่ “บริหาร” เพื่อฟื้นฟูหนี้เหล่านั้น

ทำให้ “แบดแบงก์” กลายเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้นเอง

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงชี้ว่า การปฏิรูปกฎหมายล้มละลายในอินเดีย เป็นหนทางเดียวในการแก้ปัญหาในระยะยาว แต่นับวันความเชื่อมั่นว่าจะเกิดการปฏิรูปที่ว่า ก็ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อคณะกรรมการว่าด้วยภาวะหนี้สินและการล้มละลายแห่งอินเดียแสดงว่า ตัวเลขสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ได้รับคืนเมื่อคดีแต่ละคดีสิ้นสุดในอินเดีย ลดลงตามลำดับ จากที่เคยได้รับคืน 46% ในเดือนมีนาคม ปี 2020 เหลือเพียง 39% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และหากตัดเอาคดีใหญ่ ๆ ที่สุด 9 คดีออกไป ก็จะเหลือน้อยลงไปอีก แค่ 24% เท่านั้น จากที่ควรจะได้

ขณะที่ธนาคารกลางของอินเดียคาดการณ์ว่า ถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ สัดส่วนของหนี้เสียในอินเดียจะทวีขึ้นอีกเกือบเท่าตัวสู่ระดับ 13.5%

และเศรษฐกิจอินเดียจะถูกหนี้เสียถ่วงต่อไปอีกนาน