บิ๊กเทคฯอาเซียนแห่ดีลซื้อ-ควบรวม

เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่จับตาของนักลงทุน ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตปัจจุบันอยู่ที่ราว 400 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังหนุนให้ผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ต่างเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ข้อตกลงการควบรวมและการซื้อกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) ของบริษัทเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 มีมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 114% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 ตามข้อมูลของ “ดีลโลจิก” ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ระดับโลก

โดยเป็นผลจากความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคหลายรายที่ขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ เช่น กรณี “โกเจ็ก” กับ “โทโกพีเดีย” ยูนิคอร์นอีคอมเมิร์ซสัญชาติอินโดนีเซีย เพื่อเดินหน้าสู่แพลตฟอร์มเทคโนโลยีโฉมใหม่ในชื่อ “โกทู” ด้วยมูลค่ากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา “ซี กรุ๊ป” (Sea Group) เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง “ช้อปปี้” ก็ได้เข้าซื้อกิจการธนาคารเกเซจะห์เตระอาน เอโกโนมี (Kesejahteraan Ekonomi) ของอินโดนีเซีย เพื่อขยายบริการทางการเงินด้วยรูปแบบธนาคารดิจิทัล

แม้ว่ามูลค่าข้อตกลงของซี กรุ๊ป จะไม่ได้รับการเปิดเผย แต่ “วรุณ มิตตัล” ผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคประจำสิงคโปร์ ของบริษัทตรวจสอบบัญชี “อีวาย” ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ทางการเงินออนไลน์กำลังมาแรงในภูมิภาคนี้

มิตตัลระบุว่า “ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เราจะเห็นได้ว่า บริษัทฟินเทคบรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการและได้รับใบอนุญาตเพิ่มมากขึ้น และจะเห็นธนาคารดิจิทัลใหม่ 10-15 แห่ง ทั่วสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักลงทุน”

นอกจากนี้ ในภาคโทรคมนาคมก็มีการดีลควบรวมกิจการเช่นกัน อาทิ “เซลคอม เอเซียตา” กับ “ดิจิดอตคอม” กลายเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย เช่นเดียวกับ “ดิจิทัล โคโลนี” จากสหรัฐ ที่เข้าซื้อบริการเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ของ “อินโดแซท” ในอินโดนีเซีย

แต่ความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนมากที่สุด คือ ข้อตกลงควบรวมกิจการของ “แกร็บ” ผู้ให้บริการไรด์เฮลลิ่งรายใหญ่ของภูมิภาค กับบริษัท “เช็คเปล่า” หรือ “SPAC” (Special Purpose Acquisition Company) ของกลุ่มบริษัทอัลติมิเตอร์ แคปิตอล ด้วย
จุดประสงค์ที่จะนำแกร็บเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ด้วยวิธีการควบรวมกิจการ

หากข้อตกลงควบรวมกิจการและเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐของแกร็บสำเร็จภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้มูลค่าของแกร็บสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะหนุนให้มูลค่าธุรกรรมดีลเอ็มแอนด์เอของบริษัทเทคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งทะลุ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเพียง 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และทำให้มีโอกาสเติบโตถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025