จับตาความขัดแย้งใน “โอเปก” ระวังราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูด !

เติมน้ำมัน
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตอนที่การประชุม “โอเปกพลัส” หมายถึงการประชุมร่วมระหว่างองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) กับพันธมิตรนอกกลุ่มที่นำโดยรัสเซีย “สะดุด” เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ทุกคนไม่รู้สึกกระไรนัก

แต่พอเกิดการสะดุดซ้ำ ไม่สามารถตกลงกันได้ถึงแผนจัดการปริมาณการผลิตน้ำมันในอนาคตอันใกล้ ในการประชุมเมื่อ 2 กรกฎาคมถัดมา เพราะการยืนกรานในท่าทีของตัวเองอย่างแข็งขันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนต้องนัดประชุมใหม่อีกรอบ ความกังวลก็เริ่มแผ่ขยายออกไป

ตลาดน้ำมันเริ่มผันผวน แม้จะยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับเหนือ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไปก็ตามที

ปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่า นักสังเกตการณ์ในแวดวงน้ำมันโลกเห็นตรงกันว่า หากปราศจากความตกลงจากที่ประชุม ความไม่แน่นอนจะเกิดขึ้นตามมาทันที

อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ทั้งสิ้น ระหว่างทางหนึ่งคือ ปริมาณผลผลิตน้ำมันที่ตกลงกันไว้ว่าจะทยอยเพิ่มเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงธันวาคมนี้ก็จะไม่มี

ในสภาวะแวดล้อมที่หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้บริโภคน้ำมันสำคัญอย่างสหรัฐ คลายล็อก เริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เริ่มการท่องเที่ยว ความต้องการน้ำมันโลกจะทวีเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ผลลัพธ์ก็คือ ราคาน้ำมันจะพุ่งกระฉูด จนอาจกลายเป็นปัจจัยทำลายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา

ในอีกทางหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกันว่า สถานการณ์อาจลุกลามไปในอีกทางหนึ่ง ในสภาพที่ต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างขาย ซึ่งในที่สุดจะไปลงเอยด้วยการเกิด “สงครามราคาน้ำมัน” ขึ้นอีกครั้ง

แม้ว่านักวิเคราะห์ในวงการน้ำมันจะเห็นตรงกันว่า แนวโน้มอย่างหลังอาจเป็นไปได้น้อยมากก็ตามที

ที่น่าสนใจก็คือ ความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มโอเปก กับประเทศนอกกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกโอเปกด้วยกันเอง

ระหว่างยักษ์ใหญ่ของโอเปกอย่างซาอุดีอาระเบีย กับชาติสมาชิกสำคัญอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ยูเออีไม่ได้ติดขัดกับการที่ “โอเปกพลัส” จะเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 400,000 บาร์เรล ตั้งแต่สิงหาคมเรื่อยไปจนถึงธันวาคม 2021 แล้วก็ไม่ได้ขัดข้อง ที่จะขยายมาตรการการลดกำลังการผลิตไปจนถึงเมษายน 2022 ที่ซาอุดีอาระเบีย ไปทำความตกลงกันไว้กับรัสเซีย ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมโอเปกพลัส

แต่ยูเออีมองว่า “โควตา” การผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน “ไม่เป็นธรรม”

แต่ “ซูเฮล อัล มาซรูอี” รัฐมนตรีน้ำมันของยูเออี ยืนยันว่า ในเมื่อโควตาการผลิตในปัจจุบันไม่เป็นธรรม ยิ่งยืดระยะเวลาของความตกลงลดกำลังการผลิตออกไป ยิ่งก่อให้เกิดความ “ไม่เป็นธรรม” มากยิ่งขึ้นไปอีก

“หัวใจ” ของความขัดแย้งระหว่าง “ยูเออี” กับ “ซาอุดีอาระเบีย” ครั้งนี้ รวมศูนย์อยู่ที่ “เบสไลน์” หรือระดับการผลิตที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ ไม่ว่าจะเพื่อการปรับลด หรือเพิ่มกำลังการผลิตก็ตามที

ระดับฐานของยูเออี ที่ใช้ในการคำนวณการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนที่เป็นโควตาของประเทศนั้น นำมาจากระดับการผลิตเมื่อปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเมื่อปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ยูเออีชี้ว่า ถ้าจะนำไปใช้อ้างอิงเพื่อกำหนดกรอบการผลิตในปี 2022 ก็เท่ากับว่าเป็นการนำเอาตัวเลขเมื่อ 4 ปีก่อนมาเป็นตัวกำหนดซึ่งไม่เป็นธรรม ไม่สะท้อนความเป็นจริง ยูเออีต้องการเจรจาต่อรองระดับฐานนี้ใหม่ หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ยูเออีต้องการผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมานั่นเอง

“เฮลิมา ครอฟท์” นักยุทธศาสตร์สินค้าโภคภัณฑ์ของอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ต ชี้ว่า ราคาน้ำมันจะมี “เสถียรภาพ” อยู่ในระดับ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าหากโอเปกตกลงกันได้ แต่ถ้าไม่ ก็เป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นราคาน้ำมันกระฉูดขึ้นไปเกินกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเร็ววันนี้