งานวิจัยชิลีเผย วัคซีน “ซิโนแวค” ประสิทธิภาพต่ำกว่า “ไฟเซอร์”

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

งานวิจัยที่ประเทศชิลี ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล จากประชาชนที่ฉีดวัคซีนภายในประเทศ พบว่าวัคซีน “ซิโนแวค” มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ 65.9% แต่วัคซีน “ไฟเซอร์” สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 93%

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า งานวิจัยที่ประเทศชิลีรายงานว่า จากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลประชาชนที่ฉีดวัคซีนภายในประเทศ พบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำกว่าวัคซีนของบริษัท “ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค”

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo/File Photo

ทั้งนี้ นักวิจัยรายงานว่า เมื่อฉีดครบโดสแล้ว วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 65.9% ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 92.6% นอกจากนี้ วัคซีนไฟเซอร์ยังมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วย, อาการป่วยรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิต จากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ดีกว่าวัคซีนซิโนแวคด้วย

อย่างไรก็ดี ทางนักวิจัยยืนยันว่า วัคซีนซิโนแวคยังคงสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยงานวิจัยได้เกิดขึ้นระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วงระยะเวลานั้น พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า และสายพันธุ์แกมมาในชิลีเป็นส่วนใหญ่

ขณะเดียวกัน จากรายงานเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานสาธารณสุขชิลีได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของซิโนแวคไปทั้งหมด 14 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน 6.36 ล้านคน ขณะที่ทางการได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับประชาชนไปแล้ว 2.4 ล้านโดส