ทำไม “ไฟเซอร์” เรียกร้องทางการสหรัฐ ให้ฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ?

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

บริษัท “ไฟเซอร์ อิงก์” เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทเป็น “บูสเตอร์ โดส” หรือโดสที่ 3 สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนมา 6 เดือนแล้ว

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า บริษัท “ไฟเซอร์ อิงก์” (Pfizer Inc.) วางแผนที่จะเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทเป็น “บูสเตอร์ โดส” หรือโดสที่ 3 ภายในเดือนหน้า หลังนักวิทยาศาสตร์จากไฟเซอร์มองว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสเกิน 6 เดือนแล้ว เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแล ทั้งองค์การอาหารและยา (FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐร่วมกันแถลงการณ์ว่า ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ยังไม่ต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 3 โดยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ยังมองว่า การฉีดวัคซีนโดสที่ 3 นั้นไม่ได้จำเป็น

“มิคาเอล โดลสตัน” หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ บริษัทไฟเซอร์ ระบุว่า จากรายงานการวิจัยที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์นั้นมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อลดลง มาจากการที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โดลสตันระบุด้วยว่า วัคซีนไฟเซอร์ยังมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า แต่เมื่อฉีดวัคซีนครบโดสเกิน 6 เดือนแล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากแอนติบอดี้ในร่างกายเริ่มเสื่อมโทรม อย่างไรก็ดี องค์การอาหารและยา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐระบุว่า จะอนุมัติการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เหมือนผลการทดลองวิทยาศาสตร์รายงานว่า “จำเป็น” แล้ว