ไบเดน ‘ลงดาบ’ ยักษ์ธุรกิจ ตัดอำนาจ-ป้องกันผูกขาด

“โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ เซ็นลงนามคำสั่งพิเศษที่มุ่งลดอำนาจบริษัทยักษ์ใหญ่ ในสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างธุรกิจในประเทศเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ได้ออกมาตรการ รวมทั้งคำแนะนำให้หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง กำจัดการกระทำที่มุ่ง “ผูกขาด” อุตสาหกรรม รวมทั้งปกป้องผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคในสหรัฐ

บีบีซีรายงานว่า ไบเดนได้เซ็นรับรองคำสั่งพิเศษมากถึง 72 มาตรการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก เช่น ควบคุมการควบรวมกิจการของบริษัทเทคโนโลยี ให้ทำได้ยากขึ้น ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) จะออกมาตรการใหม่ เพื่อควบคุมการเก็บข้อมูลผู้บริโภค รวมถึงออกมาตรการป้องกัน “วิธีการแข่งขัน” ที่ถูกมองว่าไม่ยุติธรรมในตลาดซื้อขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนจากสายการบินได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น ห้ามการคิด “ค่าปรับ” กรณียกเลิกสัญญาที่ทำผ่านอินเทอร์เน็ตก่อนกำหนด และจำกัดการบังคับเซ็นสัญญาว่าจ้างที่ไม่อนุญาตให้ทำงานคู่แข่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการทำให้ลูกจ้างเปลี่ยนงานหรืออาชีพได้ยากขึ้น ทั้งทำให้อัตราเงินเดือนของลูกจ้างปรับขึ้นได้ยากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม คำสั่งพิเศษนี้ไม่ได้จะมีผลทันที ทางหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะต้องไปออกกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ รวมถึงยังสามารถคัดค้านมาตรการต่าง ๆ ที่ชั้นศาลได้

ไบเดนระบุสาเหตุการออกมาตรการดังกล่าวว่า “ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่ใช่ทุนนิยม” แต่เรียกกันว่าเป็นการ “เอารัดเอาเปรียบ” รวมทั้งระบุว่า ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคำสั่งพิเศษนี้ เป็นความพยายามของรัฐบาล เพื่อช่วยส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจสหรัฐที่ยุติธรรมมากขึ้น

โดยทำเนียบขาวรายงานข้อมูลว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 1970 การก่อตั้งธุรกิจและบริษัทใหม่ในสหรัฐลดลงราว 50% เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ได้ “ปิดกั้น” ผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งนักคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจที่ดีในการที่จะเริ่มทำธุรกิจ

แม้ไบเดนไม่ได้ระบุถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องการควบคุมแต่ชัดเจนว่ากำลังพูดถึงเหล่า “บิ๊กเทค” อย่างยักษ์อีคอมเมิร์ซ “อเมซอน” และ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ได้กำจัดคู่แข่ง และมุ่งผูกขาดอุตสาหกรรม โดยการเข้าไปซื้อกิจการที่เป็นคู่แข่ง รวมทั้งเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย โดยทางทำเนียบขาวกล่าวหาว่า หลังจากที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ให้เหล่าธุรกิจรายย่อยมาจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มตนเอง ทางแพลตฟอร์มจะศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ และต่อมาก็จะออกผลิตภัณฑ์ที่ขายดีออกมาเอง และมาวางจำหน่ายเป็นคู่แข่งในราคาที่ถูกกว่า


อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่า คำสั่งพิเศษมาจากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า การแข่งขันของธุรกิจในประเทศ “หยุดนิ่ง” โดยปัจจุบันผู้ประกอบการหน้าใหม่ ก็ยังเริ่มธุรกิจได้ ขณะที่รัฐบาลไม่ใช่ศูนย์กลางที่จะมีสิทธิมากำหนดว่า ธุรกิจจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และเศรษฐกิจประเทศจะขยายตัวได้ จำเป็นที่จะต้องมีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก