เงินเฟ้อสูงสุดรอบ 13 ปี ส่อกระทบแผนใช้งบฯสหรัฐ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

เศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นมาตรวัด “เงินเฟ้อ” ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แต่ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประเมินว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เพราะความต้องการที่พุ่งขึ้นฉับพลันทำให้ซัพพลายปรับตัวตามไม่ทัน แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เงินเฟ้อจะคลี่คลายไปเอง

อย่างไรก็ตาม การที่ “เงินเฟ้อทั่วไป” เดือนมิถุนายนขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี หรือนับจากปี 2008 ไปอยู่ที่ 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5%

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคา อาหารและพลังงาน) อยู่ที่ 4.5% สูงสุดนับจากปี 1991 และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 3.8% ทำให้ตลาดและนักลงทุนบางส่วนเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะยังคงยืนกรานตามเดิมว่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดเพื่อรับมือเงินเฟ้อหรือไม่

กระทรวงแรงงานสหรัฐแจกแจงว่า สาเหตุหลักของเงินเฟ้อมาจากหมวดรถยนต์เป็นสำคัญ โดยราคาจำหน่ายรถยนต์มือสองดีดขึ้น 45.2% และราคาเช่ารถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 87.7% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เพราะประชาชนเริ่มออกเดินทาง ประกอบกับการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ นอกจากนี้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเศรษฐกิจหลังการล็อกดาวน์ล้วนแต่ปรับขึ้นมากผิดปกติ เช่น ราคาห้องพักโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน และเสื้อผ้า

“ไมเคิล เมเยอร์” หัวหน้าแผนกเศรษฐกิจของแบงก์ออฟอเมริกา ระบุว่า การเพิ่มขึ้นมากเกินไปของดัชนีราคาเพียงไม่กี่หมวดตอกย้ำว่าเป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อชั่วคราว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนในตลาดพันธบัตรเห็นว่า ข้อมูลที่ออกมาจะสร้างแรงกดดันเฟดเพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเร็วและนานกว่าที่คาด

อีกทั้งอาจเพิ่มปัญหาให้กับรัฐบาล “โจ ไบเดน” ในการที่จะได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส เกี่ยวกับแผนงบประมาณรายจ่ายในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากพรรครีพับลิกันได้ให้ความสำคัญและจับตาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาโดยตลอด อาจใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธแผนการใช้งบประมาณโครงการใหม่ ๆ ของรัฐบาล

บรรดานักเศรษฐศาสตร์กำลังจับตาว่า ดัชนีราคาที่พุ่งขึ้นนี้จะขยายไปสู่หมวดสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่กว้างกว่านี้หรือไม่ โดยราคาที่พักอาศัยซึ่งถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบเชิงโครงสร้างของเงินเฟ้อ และคิดเป็น 1 ใน 3 ของดัชนีราคาทั้งหมด ปรับขึ้น 0.5% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขยับขึ้นของราคาห้องพักโรงแรม

แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนจะเห็นด้วยกับเฟดที่ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับควบคุมได้ แต่บางคน เช่น “ซอง วอน ซอน” อาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแมรีเมาต์ ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องชั่วคราว

โดยเขาเห็นว่าภาพของเงินเฟ้อขณะนี้มีความเป็น “ชั่วคราว” น้อยลงทุกที เพราะสภาพที่ซัพพลายเกิด “คอขวด” ขณะที่ดีมานด์พุ่งทะยาน ก็ยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบายว่าจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในไม่กี่เดือน ตัวอย่างเช่น การขาดแคลนแรงงานที่เป็นสาเหตุให้ค่าจ้างสูงขึ้น ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าค่าแรงที่สูงจะทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นในอนาคต

ดัชนีดาวโจนส์วันที่ 13 กรกฎาคม ปิดตลาดลดลง 107.39 จุด หรือ 0.31% เอสแอนด์พี 500 ปรับลง 0.35% แนสแดคลดลง 0.38% หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ขยับขึ้นมากกว่า 0.04% ไปอยู่ที่ระดับเกินกว่า 1.4% ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุด

“จิม เครเมอร์” นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นและอดีตผู้จัดการกองทุนป้องกันความเสี่ยง เปิดเผยว่า ถึงแม้เฟดจะส่งสัญญาณว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนแม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่บรรดาผู้จัดการกองทุนการเงินไม่เชื่ออย่างนั้น จึงให้ความสนใจซื้อหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หรือนโยบายทางการเงินของเฟด เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีจะไม่ผันผวนไปตามเงินเฟ้อ หรือราคาสินค้าต่าง ๆ