โลกาภิวัตน์ 2 วิถี “จีน-สหรัฐ” ภาพสะท้อนจาก “เอเปก”

การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในกลุ่ม “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” หรือเอเปก ครั้งที่ 25 ที่นครดานัง ประเทศเวียดนาม มีนัยสำคัญในด้านการค้าระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ว่า เอเปกมีสมาชิกอยู่ 21 ประเทศ ครอบคลุมการค้าอยู่มหาศาล คิดเป็นสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการค้าโลกทั้งหมด

ในเวลาเดียวกับที่ทิศทางการค้าโลกโดยรวมกำลังสับสน ไม่แน่นอน เมื่อซีกโลกตะวันตกที่เคยเป็นตัวตั้งตัวตี ผลักดันให้เกิดการค้าเสรี สนับสนุนการเปิดกว้างทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ กลับพลิกท่าทีหันไปยึดถือแนวทางกีดกันทางการค้า ยึดถือเอาประโยชน์ตนเป็นหลักเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเกิดความ”ไม่ไว้วางใจ” ในระบบการค้าเสรีที่พวกตนคิดและผลักดันให้เกิดขึ้นมาเอเปกครั้งที่ 25 จึงมีขึ้นในห้วงเวลาที่เป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในโลกการค้า

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่เราได้เห็นถ้อยแถลงของผู้นำสำคัญของกลุ่มเอเปกอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในแง่เศรษฐกิจการค้าจะเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างที่ไม่เคยชัดมากเท่านี้มาก่อน

ในขณะที่ทรัมป์ปฏิเสธการค้าเสรี โดยเฉพาะการค้าเสรีในรูปพหุภาคี ด้วยการชี้ให้เห็นว่า ทั้ง “องค์การการค้าโลก” และผลงานของดับเบิลยูทีโออย่าง “กฎเกณฑ์การค้าโลก” นั้น “ทำงานได้ไม่เหมาะสม” อีกต่อไปแล้ว

นักวิชาการบางคนเชื่อว่า นั่นคือภาพสะท้อนของสถานการณ์ระดับวิกฤตของการค้าเสรีพหุภาคี ด้วยเหตุที่ว่า ครั้งหนึ่งประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานี่เองที่เคยเป็น “ผู้นำ” ของความเคลื่อนไหวนี้

วิกฤตนี้ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อบรรดาประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาพ “เกิดใหม่” ทั้งหลาย ที่ครั้งหนึ่งเคยตัดสินใจเลือกโมเดลเศรษฐกิจของตัวเองตาม “การชี้นำ” สหรัฐอเมริกา และพึ่งพาการเคลื่อนไหวของการค้าเสรีเป็นหลักในการสร้างความมั่งคั่ง รุ่งเรืองของประเทศ ด้วยเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อิงอยู่กับการค้าการส่งออก

แดเนียล มุลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจากสมาคมธุรกิจเยอรมัน เอเชีย-แปซิฟิก (โอเอวี) บอกว่า วิกฤตการค้าเสรีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สร้างแรงกดดันให้กับรัฐทั้งหลาย ที่ใช้โมเดลเศรษฐกิจพึ่งพาการค้า การส่งออกดังกล่าวให้ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมองหา “ทางเลือก” และแสวงหา “มาตรการตอบโต้” ต่อภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น

ประเทศอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือไทย แม้กระทั่งจีนเองก็ตกอยู่ในสภาพที่ว่านี้ นั่นทำให้สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ต้องแสดงออกถึงการปกป้อง “โลกาภิวัตน์” และ “การค้าเสรีพหุภาคี” ในระหว่างการประชุมเอเปกครั้งนี้

สี จิ้นผิง ยืนกรานว่ากระแสโลกาภิวัตน์ เป็น “เทรนด์” ระดับประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจ “พลิกผันย้อนกลับ” ได้อีกแล้ว แต่ยอมรับในทีว่า ปรัชญาเบื้องหลังการค้าเสรี จำเป็นต้องปรับวัตถุประสงค์ใหม่ให้ “เปิดกว้างมากขึ้น, สมดุลมากขึ้น, เสมอภาคและเป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม”

ในขณะที่ทรัมป์ยืนกรานชัดเจนว่า การจัดการแบบพหุภาคีที่มีขนาดใหญ่โต ไม่เป็นผลดีสำหรับสหรัฐอเมริกา เขาต้องการการค้าเสรีเช่นกัน แต่เป็นในแบบทวิภาคีและในรูปแบบของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

การปฏิเสธการนำโลกการค้าเสรีของสหรัฐอเมริกา ส่งผลในเชิงอัตลักษณ์ต่อเอเปกในทันที เพราะไม่เป็นที่ชัดเจนอีกต่อไปว่า เอเปก คือสัญลักษณ์ของการรวมตัวเพื่อการค้าเสรีเหมือนเช่นที่ผ่านมา นอกเหนือจากการมีปัญหาในแง่ของความน่าเชื่อถือว่าเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่มีพลังซึ่งติดตัวเอเปกมาโดยตลอดอยู่ก่อนแล้ว

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการนำสหภาพยุโรป ยังขาดเอกภาพและไม่มีศูนย์รวมอำนาจจนสามารถเข้ามาทดแทนได้ เป็นธรรมดาอยู่ดี ที่ทุกคนจะจับตามองมายังจีน

อิทธิพลของจีนปรากฏให้เห็นชัดในแถลงการณ์ร่วมปิดการประชุมเอเปก ที่ละเลยท่าทีของสหรัฐอเมริกา ยังคงยืนกรานยึดมั่นและก้าวเดินไปในแนวทางการค้าเสรี

อย่างไรก็ตาม การค้าเสรีในระดับโลก จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมี “มหาอำนาจ” เข้ามาแบกรับความรับผิดชอบและพร้อมที่จะ “โน้มน้าว” ให้ประเทศอื่น ๆ ดำเนินการในแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยให้แรงจูงใจหรือโดยการสร้างแรงกดดันจนไม่อาจปฏิเสธ

ในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นยังรวมถึงการจัดให้มีตลาดเงินที่มีเสถียรภาพ หรือมีกรอบ มีกติกา ที่ชัดเจนให้ยึดถือเหมือน ๆ กันในการทำการค้าซึ่งกันและกันทั่วโลก เหมือนอย่างที่ดับเบิลยูทีโอดำเนินการอยู่ในเวลานี้

โดยนัยนี้ จีนไม่อาจเข้ามาทดแทนสหรัฐอเมริกาได้ แม้ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตามที หากต้องการเป็น “ผู้นำของขบวนการการค้าเสรีโลก” จีนยังต้องสั่งสมและดำเนินการอีกหลายอย่างหลายประการมาก เพื่อก้าวเดินตามวิถีที่สหรัฐอเมริกาเคยเดินมาในอดีต

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า ทำไม่ได้หรือไม่ต้องการทำ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนปฏิเสธวิถีโลกาภิวัตน์แบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาเคยทำมา ซึ่งอาศัยการวางกรอบ กำหนดกฎกติกาใน

ระดับระหว่างประเทศ สร้างความรุ่งเรืองให้กับการค้านานาชาติ แต่หันมาดำเนินการตามวิถีของตัวเองเพื่อนำพานานาประเทศบรรลุผลในแบบเดียวกัน

“เบลท์ แอนด์ โรด อินนิเชียทีฟ” คือตัวแทนของวิถีโลกาภิวัตน์แบบจีน ลงทุนสร้างเส้นทาง ทั้งถนน ท่าเรือ และรางรถไฟ เชื่อมต่อนานาประเทศเข้าด้วยกัน เพื่ออาศัยสาธารณูปการทั้งหลายเหล่านั้นผลักดันการค้าให้เพิ่มพูนขึ้น

เหมือนชนบทที่เคยถูกตัดขาดจากเมืองใหญ่ กลับมาเชื่อมต่อกันได้ด้วยเส้นทางเหล่านั้นแล้วพัฒนาขึ้น มั่งคั่งขึ้นตามมามีแนวโน้มที่ว่าโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคนานาชาติของจีน จะสามารถพัฒนาการค้าโลกขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง

คำถามที่หลงเหลืออยู่ในเวลานี้ก็คือว่า วิถีโลกาภิวัตน์ใหม่ในแบบฉบับของจีนที่ไม่กังวล ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์กติกานั้น จะทำให้การค้าโลกสมดุล เสมอภาค และเป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันจริงหรือ ?