ปมความเสี่ยง ‘หนี้จีน’ กับสัญญาณเตือนที่ต้องจับตา

เงินหยวน
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ที่ผ่านมาท่ามกลางการเติบโตมากมายของเศรษฐกิจจีน ปัญหาที่เกิดควบคู่ตามมาและถูกจับตามองจากนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกชนิดที่ไม่เคยตกไปจากจอเรดาร์ก็คือ “หนี้” ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่ในระยะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา อาจจะถูกข่าวโควิด-19 บดบังความสนใจไปชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนี้นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาเตือนอีกครั้ง เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ “หนี้จีน”

ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา หนี้ของจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าของจีดีพี ขณะเดียวกันจำนวนบริษัทที่ออกตราสารหนี้หรือพันธบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก แม้ว่าล่าสุดนี้การผิดนัดชำระหนี้จะมีสัดส่วนแค่เสี้ยวเดียวของตลาดพันธบัตรในประเทศ มูลค่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากบริษัทขนาดใหญ่เกิดการผิดนัดชำระหนี้อาจทำให้นักลงทุนกังวล เพราะอาจหมายถึงว่าบริษัทนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป

ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างของ “หัวหรง แอสเสต แมเนจเมนต์ คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ ที่ไม่สามารถยื่นแสดงรายได้ตามกำหนดเวลา จนเป็นเหตุให้พันธบัตรที่ออกโดยหัวหรงฯราคาดิ่งเหว และทำให้ตลาดตกอกตกใจมาแล้วในปีนี้

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า กรณีดังกล่าวข้างต้นส่งสัญญาณว่า การการันตีโดยรัฐบาลกำลังเปลี่ยนไป เมื่อรัฐบาลพยายามปรับปรุงคุณภาพของตลาดพันธบัตรด้วยการกำจัดบริษัทอ่อนแอออกไป เพราะในยามที่จีดีพีขยายตัวช้าลง ผู้มีอำนาจของรัฐต้องพยายามจัดสมดุลระหว่างการควบคุมหนี้และการปล่อยให้พลังตลาดเข้าไปส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อรักษาการเติบโตในระยะยาว

ตามข้อมูลของ “ฟิตช์ เรทติ้ง” ระบุว่า ครึ่งแรกของปีนี้ ตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ เกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นมูลค่า 6.259 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 9.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดนับจากปี 2014 ในจำนวนนี้เป็นการผิดนัดชำระหนี้โดยบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของมากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 3.565 หมื่นล้านหยวน ขณะเดียวกันตลอดปี 2020 ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ เกิดการผิดนัดชำระรวม 1.4677 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2014 ซึ่งผิดนัดชำระเพียง 1.34 พันล้านหยวน และไม่มีบริษัทรัฐผิดนัดชำระเลย

ขณะที่ความกลัวของนักลงทุนเพิ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์แนะว่า มี 3 พัฒนาการสำคัญที่ต้องจับตา 1.การผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในพื้นที่สีเทาของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่ง “ลาร์รี หู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของแมคควอรีระบุว่า หมุดหมายสำคัญที่จะบ่งบอกว่า รัฐบาลจีนจะสนับสนุนบริษัทที่เป็นเครื่องมือทางการเงินของรัฐในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่เรียกว่า LGFV หรือไม่ ให้รอดูว่า LGFV จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ เพราะบริษัทเหล่านี้จำนวนมากเป็นเสมือนซอมบี้ มีหนี้สินจำนวนมาก และไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น

ซึ่งคิดว่า LGFV จะผิดนัดชำระแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะปัจจุบันรัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องตัวเลขจีดีพีเหมือนในอดีต จึงสามารถทนต่อความเสี่ยงของบริษัทเหล่านี้ได้

ประการที่ 2 ปัญหาตกค้างของบริษัทหัวหรงฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารหนี้เสียใหญ่สุดของจีน และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้สนับสนุนหลัก ที่ผ่านมาหัวหรงฯต้องดิ้นรนแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในองค์กร และการลงทุนที่ล้มเหลว หากปัญหาของหัวหรงฯได้รับการแก้ไขด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลก็จะช่วยกระตุ้นธุรกิจบริหารสินทรัพย์ แต่ถ้าหากหัวหรงฯผิดนัดชำระหนี้ ต้นทุนของบริษัทรัฐอื่น ๆ จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบ่งชี้ว่ารัฐไม่ได้อุ้มชูอีกต่อไป บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องเสนอดอกเบี้ยสูงแก่นักลงทุนเพื่อดึงดูดความสนใจ


ประการที่ 3 จุดอ่อนโผล่ขึ้นมาให้เห็นตามธนาคารท้องถิ่นบางแห่ง ตามการวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งพบว่า จุดที่อาจเกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงกระจุกตัวอยู่ในธนาคารขนาดเล็กแถวภาคเหนือและภาคใต้ตอนกลาง ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมลง