เศรษฐกิจ “โอลิมปิกเกมส์” เจ้าภาพขาดทุนบักโกรก!

คอคัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายคนยืนยันว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ไม่เคยเป็นกิจกรรมที่ “ทำกำไร”ให้กับมหานคร หรือชาติที่รับเป็นเจ้าภาพอย่างที่เชื่อกันมาก่อน

นับตั้งแต่ปี 1960 ประเทศเจ้าภาพส่วนใหญ่จะขาดทุนยับเยินด้วยกันทั้งสิ้น เพราะงบประมาณในการจัดการแข่งขันมักบานปลายขึ้นเป็นเท่าตัว หรือมากกว่า โดยผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย
ออกซ์ฟอร์ดระบุไว้ว่า ชาติเจ้าภาพทุกรายต้องเผชิญกับสถานการณ์งบประมาณบานปลาย โดยเฉลี่ยราว 172%

แต่ไม่เคยมีชาติเจ้าภาพไหนที่ถูกระบุว่า จะขาดทุนยับเยิน “บักโกรก” เท่ากับ “กรุงโตเกียว” ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 อยู่ในเวลานี้

นักวิชาการบางคนถึงกับระบุว่า โอลิมปิกเกมส์ หนนี้คือ หายนะทางการเงิน สำหรับญี่ปุ่นโดยแท้

เมื่อตอนที่ญี่ปุ่นจัดทำงบประมาณเพื่อขอเป็นเจ้าภาพ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เมื่อปี 2013 นั้น ญี่ปุ่นกำหนดวงเงินในการจัดการแข่งขันทั้งหมดไว้แค่ 7,500 ล้านดอลลาร์

แต่พอดำเนินการจริง ทั้งการจัดสร้างสนามแข่งขัน, สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ และการเตรียมการด้านบันเทิง-วัฒนธรรมทั้งหลาย งบประมาณในการจัดโอลิมปิกบานปลายไปกว่าเท่าตัวเป็น 15,400 ล้านดอลลาร์

และเมื่อหน่วยงานตรวจสอบบัญชีของรัฐบาล เข้าไปตรวจสอบก็พบว่า ค่าใช้จ่ายจัดการแข่งขันอาจจะสูงเกินกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำไป หรือเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณประเทศไทยทั้งปี เมื่อปี 2019 (87,700 ล้านดอลลาร์)

การเลื่อนการแข่งขันจากปี 2020 มาเป็นปีนี้ ทำให้งบฯจัดการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอีก 2,800 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเกิดจากต้องไล่เจรจาเงื่อนไขสัญญาใหม่ทั้งหมด บวกกับค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเคร่งครัดชนิด “พลาดไม่ได้”

เงินจัดการแข่งขันพวกนี้มาจากไหน ราว 55 % คือ งบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษี ส่วนที่เหลืออีกราว 6,700 ล้านดอลลาร์ คือ เงินสมทบจากภาคเอกชน, รายได้สปอนเซอร์, การจำหน่ายตั๋วเข้าชม และงบฯสมทบจากไอโอซี

ที่หนักหนาสาหัสที่สุดก็คือ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ของญี่ปุ่น กลับกลายเป็นโอลิมปิกเกมส์ ที่ “ไม่มีคนดู” คณะเจ้าหน้าที่และนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ถูกจำกัดลงให้เหลือน้อยที่สุด และถูกจำกัดความเคลื่อนไหวให้ลดน้อยลงด้วย

ศาสตราจารย์คัทสึฮิโร มิยาโมโตะ นักวิชาการกิตติคุณของมหาวิทยาลัยคันไซ เคยประเมินไว้ว่า การจัดโอลิมปิกโดยไม่มีคนดูนั้น จะทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียรายได้ที่พึงได้รับไปอย่างน้อยที่สุด 2.4 ล้านล้านเยน หรือราว 21,772 ล้านดอลลาร์

โดยรายได้ที่สูญเสียส่วนใหญ่ เป็นรายได้ที่เกี่ยวกับการแข่งขัน ตั้งแต่ตั๋วเข้าชม ไปจนถึงการจับจ่ายของนักกีฬา ครอบครัวและกองเชียร์ ฯลฯ เป็นรายได้ที่เคยคาดว่าจะได้จะหายไปมากถึง 90% ของรายได้ที่ประเมินไว้

ถัดมา การบริโภคของครัวเรือนญี่ปุ่นที่เกิดจากความกระตือรือร้นกับมหกรรมกีฬาที่จะเกิดขึ้นในประเทศก็จะหดหายตามไปด้วย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการโปรโมตสินค้า และการแสดงเชิงวัฒนธรรม ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการแข่งขันก็จะลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

ความต้องการที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง หายไปจนหมด โอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันหลงเหลือเพียงนิดหน่อย

การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬา “โอลิมปิกเกมส์” นั้นส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในทางลบต่อเจ้าภาพ ชนิดที่ทำให้หลาย ๆ ชาติซึ่งเคยคิดขอเป็นเจ้าภาพต้อง “คิดใหม่” เลิกล้มความตั้งใจมานักต่อนักแล้ว

หลังจากปี 2013 ญี่ปุ่นได้รับเป็นเจ้าภาพ (โอลิมปิก 2020) พอปี 2014 มี 4 เมืองขอถอนตัวจากการขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ซึ่งจีนก็ได้รับไป และต่อมาในการชิงเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ก็มีอีก 3 ชาติถอนตัว ทำให้ “กรุงปารีส” ได้เป็นเจ้าภาพไป พร้อมกับมีการ “มอบหมาย” ให้คู่แข่งที่เหลือ คือ “นครลอสแองเจลิส” สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพปี 2028 โดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องมีการแข่งขันกันขอเป็นเจ้าภาพกันอีกแล้ว