แม็กกี้ แมคนีล: เด็กจีนถูกทิ้งจากนโยบายลูกคนเดียว สู่แชมป์โอลิมปิก

จากเด็กจีนถูกทิ้งสู่นักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก
REUTERS/Kai Pfaffenbach

“แม็กกี้ แมคนีล” นักกีฬาว่ายน้ำชาวแคนาดาเชื้อสายจีน คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้นโยบายลูกคนเดียวของจีนถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า เด็กหญิงชาวจีนที่สามีภรรยาคู่หนึ่งรับไปเป็นลูกบุญธรรม สามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้สำเร็จ ซึ่งเรื่องราวของเธอได้จุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อภายในจีน ต่อประเด็นนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “แม็กกี้ แมคนีล” ชาวแคนาดาที่เกิดในจีน กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก หลังจากครองตำแหน่งแชมป์โอลิมปิก โดยเฉือนเอาชนะ “จาง หยูเฟย” นักว่ายน้ำชาวจีน ในการแข่งขันว่ายน้ำท่าผีเสื้อระยะทาง 100 เมตร

โดย “จาง” ได้เหรียญเงินด้วยเวลา 55.64 วินาที ขณะที่แมคนีลทำเวลาน้อยกว่า 0.05 วินาที

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Maggie Mac Neil (@macnmagg)

ตามรายงานของสื่อจีนระบุว่า แมคนีล ถูกพ่อแม่โดยสายเลือดของเธอทอดทิ้ง หลังจากให้กำเนิดเธอในเมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2543

หนึ่งปีต่อมา “ซูซาน แมคนีล” และ “เอ็ดเวิร์ด แมคนีล” ได้รับอุปการะเธอและน้องสาวจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าท้องถิ่น แล้วพาพวกเธอไปอยู่ที่แคนาดา

แมคนีลเริ่มว่ายน้ำเมื่อปี 2551 ก่อนกลายเป็นนักกีฬาดาวรุ่งในมหาวิทยาลัยมิชิแกน และเป็นเพื่อนร่วมทีมกับ “ชีวอน ฮอยฮี” นักกีฬาว่ายน้ำชาวฮ่องกงที่ร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 เช่นกัน

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Maggie Mac Neil (@macnmagg)

ความสามารถของแมคนีลปรากฏเด่นชัดในการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เมืองกวางจู เกาหลีใต้ เมื่อปี 2562 โดยเธอสามารถโค่นแชมป์โลกอย่าง “ซาราห์ สโยสตรอม” ในการแข่งขันท่าผีเสื้อระยะทาง 100 เมตร คว้าเหรียญทองด้วยเวลา 55.83 วินาที

แชมป์โอลิมปิกอายุ 21 ปีผู้นี้ เป็นหนึ่งในเด็กจำนวนมากที่ถูกทิ้งในจีน ภายใต้นโยบายลูกคนเดียว ที่จีนได้ยกเลิกไปแล้ว

“ลองนึกภาพว่าถ้าเธอไม่ได้ถูกเลี้ยงดูจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือถ้าเธอไม่ได้ถูกพ่อแม่แท้ ๆ ทิ้งไป ตอนนี้เธอจะเป็นอย่างไร ?” นี่คือหนึ่งความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เว่ยป๋อ (Weibo)

“การได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมได้เปลี่ยนวงโคจรชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเธอได้รับการดูแลและฝึกอบรมที่มีคุณภาพ”

“เธออาจจะลาออกจากโรงเรียน เพื่อสนับสนุนน้องชายของเธอ หากเธอยังอยู่ที่จีน”

นโยบายลูกคนเดียวของจีน

นโยบายลูกคนเดียวที่ดังกระฉ่อนของจีน ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2523 ถูกนำมาใช้เป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ ก่อนที่จะผ่อนปรนเป็นนโยบายลูกสองคน เมื่อปี 2558

หลังจากนั้นจึงขยับเป็นนโยบายลูกสามคนในปี 2564 เพื่อรับมือกับวิกฤตด้านประชากร ที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการเกิดต่ำที่สุด นับตั้งแต่เกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ระหว่างปี 2502-2505 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเผชิญความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียประชากรหลายสิบล้านคนจากความอดอยาก

ภายใต้นโยบายลูกคนเดียว หน่วยงานท้องถิ่นที่ต้องการบรรลุเป้าหมายด้านประชากร มักใช้มาตรการรุนแรง เช่น การบังคับทำแท้งและการทำหมัน โดยครอบครัวมักชอบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง เฉพาะอย่างยิ่งในชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้มีการทำแท้ง การรับเลี้ยงและการทอดทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลทางเพศครั้งใหญ่ในประเทศ

ครอบครัวที่ฝ่าฝืนนโยบายมีลูกคนเดียวหรือนโยบายมีลูกสองคน ต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก และประสบความยากลำบากในการหางาน โดยเมื่อปี 2563 หน่วยงานท้องถิ่นในมณฑลเสฉวนได้ปรับเงินครอบครัวหนึ่งเป็นเงิน 718,080 หยวน หรือประมาณ 3.6 ล้านบาท (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 ก.ค.64) เนื่องจากครอบครัวนี้มีลูกมากถึง 7 คน ตามรายงานของโกลบอลไทม์ส

ทั้งหมดนี้ทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องนำลูกสาววัยแบเบาะไปทิ้งไว้หน้าประตูสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงเรียน หรือแม้แต่บนถนน ด้วยหวังว่าบ้านหรือครอบครัวอื่น ๆ จะรับเลี้ยงพวกเธอ

กระทั่งไตรมาส 1 ปี 2564 กระทรวงกิจการพลเรือนจีน รายงานว่า มีเด็กกำพร้าในจีนประมาณ 190,000 คน กระจายอยู่ตามสถานสงเคราะห์เด็กที่มีอยู่เพียง 59,000 แห่ง ทั่วประเทศ

เมื่อปี 2555 จำนวนเด็กกำพร้าในจีนอยู่ที่ 570,000 คน หมายความว่าเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อล่วงเข้าสู่ปี 2564

ปี 2534 รัฐบาลจีนเปิดโครงการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ นับตั้งแต่นั้นมีเด็กประมาณ 110,000 คน จากจีน ถูกรับตัวไปเลี้ยงในต่างประเทศ มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลของ “เคอร์รี โอฮาลโลแรน” ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันศึกษาด้านการกุศลและการไม่แสวงหากำไร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ ที่เขียนในหนังสือ The Politics of Adoption

“ฉันเป็นชาวแคนาดา”

เรื่องราวของแมคนีลยังทำให้คนจำนวนมากนึกถึงนักยิมนาสติกชาวอเมริกัน “มอร์แกน เฮิร์ด” ซึ่งเกิดในมณฑลกวางสีของจีน เมื่อปี 2544 โดยเธอถูกรับเลี้ยงโดยแม่บุญธรรมชื่อ “เชอริ เฮิร์ด” เมื่ออายุได้ 11 เดือน และเริ่มเล่นยิมนาสติกเมื่ออายุ 3 ขวบ ก่อนจะกลายเป็นนักยิมนาสติกชั้นนำของสหรัฐฯ

ข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ในจำนวนเด็กจากจีน 82,456 คน ที่ชาวอเมริกันรับมาเลี้ยง ระหว่างปี 2542-2563 ร้อยละ 82.14 เป็นเด็กผู้หญิง

ความเห็นหนึ่งเขียนว่า “มีเด็กผู้หญิงกี่คนที่ไม่รับรู้ถึงศักยภาพในตนเอง เนื่องจากครอบครัวชื่นชอบเด็กผู้ชายมากกว่า” ส่วนอีกความเห็นบอกว่า “มีผู้หญิงมากความสามารถกี่คน ที่พวกเราไม่ใส่ใจ”

ชาวเน็ตจีนอีกคนยืนยันว่า แม้ผู้ชนะโอลิมปิกรายนี้จะเป็นชาวจีนโดยกำเนิด แต่เหรียญทองของแมคนีลไม่ได้สร้างเกียรติให้กับจีนเลย

ส่วนอีกความเห็นบอกว่า “ชัยชนะของเธอพิสูจน์ให้เห็นว่าเชื้อชาติไม่ได้สำคัญสำหรับกีฬา ขณะที่ชาวเอเชียหลายคนคว้าเหรียญทองและเหรียญเงินในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่นี้”

อีกความเห็นเขียนว่า “เธอถือสัญชาติแคนาดา เครดิตทั้งหมดควรยกให้ผู้ที่เลี้ยงและฝึกฝนเธออย่างดีในแคนาดา”

“ฉันรู้สึกละอายใจที่เห็นสื่อรายงานว่า แมคนีลเกิดในจีน”

“สิ่งที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงอาจเป็นการที่เรายอมปล่อยเธอไปเมื่อ 20 ปีก่อน”

สำหรับแมคนีลเองนั้น เธอระบุตัวตนชัดเจนระหว่างงานแถลงข่าวหลังการแข่งขันว่า

“ฉันเกิดในจีน และถูกรับเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็ก และนั่นคือมรดกจากจีนเท่าที่ฉันมี ฉันเป็นคนแคนาดา ฉันเป็นชาวแคนาดามาโดยตลอด นั่นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในการเดินทางของฉัน เพื่อมาสู่จุดที่เป็นฉันในวันนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเมื่อพูดถึงการว่ายน้ำ”

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Maggie Mac Neil (@macnmagg)