แห่ทิ้ง “หยวน-ดอลล์ฮ่องกง” นักลงทุนผวาจีนขยี้บริษัทเทค

เงินหยวน
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

การที่รัฐบาลปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยรายล่าสุดที่ถูกเล่นงานก็คือ “ตีตี้” (Didi) บริษัทให้บริการเรียกรถโดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคลรายใหญ่ของจีนลักษณะเดียวกับ “แกร็บ” หรือ “อูเบอร์” สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนค่อนข้างมาก และความกังวลยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อจีนเริ่มแสดงให้เห็นว่าการปราบปรามจะขยายวงไปนอกเหนือจากบริษัทเทคโนโลยี เห็นได้จากการเล่นงานบริษัทด้านการศึกษาด้วย

การปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้นักลงทุนเทขายเงินหยวนและดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมกับที่ตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงดิ่งฮวบครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เงินหยวนในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) เมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคมปิดตลาดที่ 6.528 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 1% เมื่อเทียบกับวันศุกร์ 23 กรกฎาคม ส่วนเงินดอลลาร์ฮ่องกง ซื้อขายที่ 7.7849 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าที่สุดนับจากเดือนเมษายนปีนี้ หลังจากดัชนีหั่งเส็งร่วงลงกว่า 8% ในเวลาเพียง 2 วันของสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรวมแล้วตลอดเดือนกรกฎาคม ดัชนีหั่งเส็งปรับลงประมาณ 13% ทำผลงานแย่สุดนับจากเดือนกันยายน 2011

ส่วนตลาดหุ้นของจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ เสิ่นเจิ้น ปรับลง 5.5% แย่ที่สุดนับจากเดือนกันยายน 2020 ขณะที่เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตลดลงเกือบ 6% แย่ที่สุดนับจากเดือนตุลาคม 2018 ซึ่งนักวิเคราะห์ของบีสโป๊ก อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป ระบุว่า ยังไม่มีครั้งใดเลยนับจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ที่ดัชนีหั่งเส็งจะลดลงมากในเวลาเพียง 2 วันเท่ากับครั้งนี้

“วิษณุ วราธัน” หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและกลยุทธ์มิซูโฮ แบงก์ เตือนว่า ท่ามกลางการปราบปรามบริษัทต่าง ๆ เช่นนี้ “เงินหยวน” ในตลาดต่างประเทศอาจอ่อนค่าได้อีก โดยมีแนวโน้มว่าจะมีลักษณะผันผวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียว อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าจะเกิดขึ้นยาวนาน ถ้าหากตลาดเกิดความรับรู้ว่ารัฐบาลจีนมีความพยายามขัดขวางไม่ให้บริษัทจีนไประดมทุนในต่างประเทศอย่างไม่สิ้นสุด แต่ที่แน่ ๆ แรงจูงใจเฉพาะหน้าในขณะนี้ที่ทำให้นักลงทุน “เทขายเงินหยวน” ก็คือการที่รัฐบาลจีนขยายวงเล่นงานไปยังธุรกิจการศึกษาและอาจจะรวมถึงธุรกิจสุขภาพด้วย

ทางด้าน “คลอดิโอ ไพรอน” หัวหน้ากลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเอเชียของแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวของรัฐบาลจีน บ่งบอกว่าจีนหันเข้าภายในประเทศมากขึ้น หากจีนหันเข้าภายในมากขึ้นจะยิ่งสร้างผลเสียต่อเงินหยวน โดยเฉพาะถ้าการ “อ่อนค่า” เกิดขึ้นพร้อมกับการ “อ่อนตัว” ของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อซึ่งเป็นมาตรวัดผลประกอบการของภาคการผลิต

บริษัท “ตีตี้” ซึ่งเป็นเป้าใหญ่ที่ถูกรัฐบาลจีนเล่นงานรอบล่าสุด ต่อจากระดับบิ๊กเนมก่อนหน้านี้ เช่น อาลีบาบา เทนเซนต์ เป็นบริษัทสัญชาติจีนที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และเริ่มซื้อขายเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นบริษัทรายใหญ่ของจีนและของโลกรายหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 600 ล้านราย ให้บริการใน 16 ประเทศทั่วโลก แต่ต้นเดือนกรกฎาคม แอปพลิเคชั่นของตีตี้ทั้งหมด ถูกถอดออกจากแอปสโตร์ตามคำสั่งของหน่วยงานความมั่นคงด้านไซเบอร์ของจีน ด้วยข้อหาเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในลักษณะละเมิดกฎหมาย

Advertisment

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่รัฐบาลจีนเล่นงานตีตี้ น่าจะเป็นเพราะไม่พอใจที่บริษัทแห่งนี้ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ แทนที่จะเป็นตลาดหุ้นฮ่องกงหรือตลาดหุ้นแผ่นดินใหญ่ เพราะนโยบายของจีนต้องการลดการพึ่งพาสหรัฐ ขณะที่ 2 ประเทศมีความขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี

นอกจากนี้น่าจะเป็นเพราะจีนเกรงว่าต่างชาติจะได้รับข้อมูลที่มีความสำคัญของประเทศไปจนกระทบต่อความมั่นคง เพราะข้อมูลที่ตีตี้จัดเก็บมีทั้งข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ ข้อมูลคนขับ ข้อมูลผู้ใช้บริการ อีกทั้งมีกล้องบันทึกทั้งภายในและภายนอกตัวรถ จนอาจเป็นการเปิดเผยข้อมูลละเอียดอ่อนที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของจีนให้ต่างชาติรู้

Advertisment

การถูกถอดแอปพลิเคชั่นในจีน จะกระทบต่อรายได้ของตีตี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัท