ข่าวดี! ไทยเตรียมใช้แอนติบอดี้ค็อกเทลรักษาโควิด ประเดิมบำราศนราดูร

แอนติบอดี้ค็อกเทล ยารักษาโควิดโดยตรงเข้าไทยแล้ว เตรียมใช้ครั้งแรกที่บำราศนราดูร แพทย์ชี้ช่วยลดเวลาการครองเตียง-ลดอัตราเสียชีวิตกว่า 70%

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทยทวีความรุนแรง ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นคนเกิน 10 วัน และทำยอดนิวไฮต่อเนื่อง กระทบทั้งจำนวนเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงกลุ่มยารักษาโควิด ที่หน่วยงานหลายฝ่ายต้องเร่งผลิตและคิดค้นนวัตกรรมใหม่มารับมือ

ต่อมา ยาแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail) หรือแอนติบอดีค็อกเทล ที่โรชและรีเจนเนอรอนพัฒนาขึ้น ได้ถูกคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ประกาศอนุมัติให้ใช้เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามที่ได้เคยเสนอข่าว

ไขข้อสงสัยแอนติบอดี้ค็อกเทล

ล่าสุด ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เปิดเผยในงาน “เจาะลึก ตัวเลือกการรักษาผู้ป่วย COVID-19 กับแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail)” จากโรช (Roche) และ รีเจนเนอรอน (Regeneron) โดยระบุว่า

ยาแอนติบอดี ค็อกเทล คือ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ คำนี้อาจเป็นคำใหม่ของทุกคน แต่ในมุมมองการรักษาโควิด ถือเป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น โดยเชื้อไวรัสโควิด ปกติจะมีผิวเป็นโปรตีนคล้ายหนาม ซึ่งจะทำให้ไวรัสเข้าไปจับกับผิวของเซลล์มนุษย์ หรือเรียกว่าโปรตีน ACE2 บนผิวของเซลล์คน

ทั้งนี้ ACE2 มีความจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ในคน และพบได้ในอวัยวะหลายส่วน ซึ่งมีบทบาทสำคัญช่วยป้องกันระบบทำงานของปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด

สำหรับผู้ที่เคยติดโควิด จะมีตัวแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นในรางกาย ซึ่งการทำยาแอนติบอดี ค็อกเทล คือ สารสกัดภูมิคุ้มกันนี้ออกมาเพื่อให้ยายับยั้งเชื้อโควิดได้โดยตรง ส่วนกลไกของการทำงานยาแอนติบอดิ ก็คือ การทำให้ภูมิคุ้มกันไปลบล้างฤทธิ์ ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง และตรงเข้าจับกับตัวรับบนโปรตีนรูปแบบเดือย ซึ่งอยู่บนผิวของไวรัสโควิด ช่วยให้ยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายคนได้

ผลจากการทดลองในห้องปฎิบัติการพบว่า ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์มีความไว ต่อไวรัสโควิด 19 ในสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ลดการอัตราการตาย 70%

ด้าน ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณากุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า แอนติบอดีค็อกเทลนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง หากเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียวและสีเหลืองที่มีอาการไม่เกิน 7 วัน และไม่เคยได้รับยารักษาโรคโควิดมาก่อน ไปจนถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วน 58% โรคหัวใจและหลอดเลือด 36% และผู้ป่วยที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป 51% เป็นต้น

จากการศึกษาประสิทธิภาพของแอนติบอดี้ค็อกเทล ในการทดลองเฟส 3 สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโควิดอาการน้อยหรือปานกลางในประเทศสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นจะแบ่งการทดลองแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับยา 1,200 มก. กลุ่มที่ได้ยา 2,400 มก. และกลุ่มที่ได้ยาหลอก

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่ได้รับแอนติบอดี ค็อกเทล ปริมาณ 1,200 มก. ลดการนอน รพ. หรือการเสียชีวิตได้ถึง 70% ส่วนกลุ่มที่ได้รับแอนติบอดี ค็อกเทล ปริมาณ 2,400 มก. ลดการนอน รพ. หรือการเสียชีวิตได้ถึง 71 % และระยะเวลาที่โรคแสดงอาการลดลง จาก 14 วันแล้วหาย ลดลงเหลือ 10 วัน ก็หายป่วย

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถช่วยลดภาระเตียง และห้องไอซียู ของโรงพยาบาลได้

พร้อมกันนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงของการดื้อยา โดยผู้ป่วยโควิด ที่ได้รับแอนติบอดี ค็อกเทล ไม่มีการแสดงอาการข้างเคียงจากยา แต่อาจพบอาการข้างเคียงทั่วไปที่เจอได้ในยาฉีด เช่น ปฎิกิริยาแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน หรือภาวะภูมิไวเกิน เป็นต้น

นอกจากนี้ การทดลองยังได้มีการนำยากลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ไปใช้ทดลองในห้องทดลอง กับโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัลฟา เบตา แกมมา และ สายพันธุ์เดลตา พบว่า ยาในกลุ่ม Cas&Im ของกลุ่มบริษัทโรช มีผลในการยับยั้งเชื่อได้ทั้งหมดทุกสายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ต้องมีการทดลองในมนุษย์ ว่าผลจะเป็นไปตามในห้องทดลองหรือไม่

“ยาแอนติบดดิ ค็อกเทลนี้ ถือว่าเป็นยาตัวแรกที่ใช้รักษาโควิด 19 โดยตรง ส่วนยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างเช่น ฟาวิพิราเวียร์ ไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาโควิดโดยตรง แต่เป็นยาที่ใช้รักษาอาการอื่น ๆ และขณะนี้ มีการวิจัยยา ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโควิดมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น บริษัทวิจัยในอินเดีย มีการวิจัยยาฟาวิพิราเวียร์ เฟส 3 และมีอีกหลายบริษัท ซึ่งต่อไปยาที่ใช้ จะเป็นการกิน ไม่ใช่การฉีด”

ประเดิมใช้ที่แรก บำราศนราดูร

ด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร แสดงทัศนะว่า ที่ผ่านมาสมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา ได้มีข้อแนะนำให้ใช้ยาแอนติบอดิ ค็อกเทล ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ถึงปานกลาง และเป็นผู้ป่วยเสี่ยงสูงที่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ รวมไปถึงใช้ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก หรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย ไม่ถึงกับออกซิเจนตก

ปัจจุบันหลายประเทศทั้งฟากอเมริกา ยุโรป หรือเอเชียเองก็ตาม อาทิ ประเทศอเมริกา ได้เริ่มใช้ยาดังกล่าวราว 6 เดือน ในผู้ป่วยจริง 4,805 คน

ล่าสุด ประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำยาแอนติบอดีค็อกเทลไปใช้แล้วเช่นกัน ส่วนประเทศไทยหลัง อย.อนุมัติการใช้ยาเมื่อ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา และเริ่มนำเข้ามาวันแรกเมื่อ 30 ก.ค. ดำเนินการโดยกรมควบคุมโรค

“การใช้ยาแอนติบอดี้ค็อกเทลในผู้ป่วย 4 คน จะมี 1 คน ย่นระยะเวลาการนอน รพ. และลดการเข้าห้องฉุกเฉินได้ หรือในการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้ยา มีอัตราการเสียชีวิต 0-0.6 % ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ยาจะมีอัตราเสียชีวิต 1.4-3.5% สำหรับการเข้าไอซียู กลุ่มได้รับยามีอัตราเพียง 0.66-0.77 % กลุ่มที่ไม่ได้รับยามีอัตราสูงถึง 7.6%”

อย่างไรก็ดี การให้ยาเบื้องต้น จะให้ในปริมาณ 1,200 มก. เป็นยาฉีดผ่านทางเส้นเลือด ใช้เวลาให้ยาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นให้สังเกตอาการ 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจึงกลับบ้านได้ และจะมีการติดตามอาการต่อไป ซึ่งเมื่อยานำเข้ามาในไทยแล้ว จะเริ่มใช้กับผู้ป่วยที่สถาบันบำราศนราดูรเป็นที่แรก