แผนลุยกำราบยักษ์ไอที เมื่อ ‘จีน’ ยกหินทุ่มขาตัวเอง

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

รัฐบาลจีนสร้างความประหลาดใจและแตกตื่นเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสั่งระงับ “ไอพีโอ” ของบริษัทฟินเทค ระดับหัวแถวของประเทศอย่าง “แอนท์ กรุ๊ป” เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

บีบบังคับให้บริษัทปรับปรุงโมเดลธุรกิจจาก “แอสเซต-ไลต์” ตามแนวทางการปฏิวัติดิจิทัล จนเหลือสภาพแทบไม่ต่างจากธนาคารธรรมดา ๆ แห่งหนึ่ง

เท่านั้นยังไม่พอ ทางการจีนยังจัดการกับบริษัทไอทีระดับโลกอย่าง “อาลีบาบา” และ “เทนเซนต์” ด้วยข้อกล่าวหาว่า “ผูกขาด” ตามด้วยการสั่งถอดแอปพลิเคชั่น “ตีตี ชูสิง” ผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นออกจากแอปสโตร์ เพียงไม่กี่วันหลังจากที่บริษัทเปิดการระดมทุนจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยอ้างปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ล่าสุดคือเมื่อ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการจีนลงดาบบริษัทให้บริการด้านการศึกษาออนไลน์ทั้งหลายด้วยการห้าม “ทำกำไร” และห้ามการใช้กลไกออฟชอร์ในการระดมทุนที่ช่วยให้บริษัทสามารถนำหุ้นออกไปซื้อขายในต่างแดนได้

ผลก็คือ หุ้นของ “ติวเตอร์ออนไลน์” ที่จดทะเบียนอยู่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ทีเอแอล เอดูเคชั่น, นิว โอเรียนท์ หรือกัวะถู พากันร่วงลงระนาว มูลค่าหายไปทันทีไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ลามไปถึงหุ้นของบริษัทจีนทั้งหมด ซึ่งตอนพีกสุดมูลค่ารวมกันเกินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ให้ทรุดตามไปด้วย

รายงานของดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า ดัชนีโกลเด้น ดรากอน ไชน่า อินเด็กซ์ ซึ่งรวม 100 บริษัทจีนที่ใหญ่ที่สุดในตลาดแนสแดค ร่วงลงมากถึง 19% ในเวลาแค่ 3 วัน ก่อนขยายตัวไปถึงตลาดฮ่องกง ทุบดัชนีหุ้นเทคโนโลยีของตลาดลง 16% ในเวลาไม่กี่วันเช่นเดียวกัน

ที่สำคัญก็คือ นักลงทุนต่างชาติพากันแห่เทขายหุ้นในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่กันจ้าละหวั่น “เงินทุนไหลออกมหาศาล” ถึงขนาดทำให้ค่าหยวนอ่อนค่าลงอย่างชัดเจนเมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนครั้งนี้ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ จีนเริ่ม “เป็นกังวล” มากขึ้นตามลำดับว่าไม่สามารถ “ควบคุม” บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ให้อยู่ในกำมืออย่างที่ต้องการได้ แล้วก็ตัดสินใจเรียงลำดับความสำคัญใหม่ “ยึดเอาความมั่นคงและเสถียรภาพ” ของพรรคและรัฐ เป็นอันดับหนึ่ง แทนที่จะยึดเอาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญเหมือนอย่างแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจที่อดีตผู้นำอย่าง “เติ้ง เสี่ยวผิง” เคยวางเอาไว้ ผ่านวาทกรรมที่ว่า “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี” ซึ่งเป็น “โมเดล” ที่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนรุ่งโรจน์จนกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเช่นทุกวันนี้

ช่วยยกระดับชีวิตของชาวจีนหลายสิบล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์หลายคนรวมทั้ง “เชลซี แทม” จากบริษัทวิจัย มอร์นิ่งสตาร์ เชื่อว่า ทางการจีนจะยังไม่ยุติการดำเนินความพยายามเพื่อเข้าไปควบคุมกิจการเอกชนของตนไว้เพียงเท่านี้ เหยื่อลำดับต่อ ๆ ไปอาจอยู่ในอุตสาหกรรมเกม ซึ่งไม่เพียงทำเงินมหาศาลแต่ยังมีข้อมูลยูสเซอร์อยู่ในมือมากมายอีกด้วย อาจด้วยการผ่านกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาควบคุม ทำนองเดียวกับคำสั่งเมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ให้ “วีแชต” หยุดขึ้นทะเบียนยูสเซอร์ใหม่ไปจนกว่าจะ “จัดการตัวเอง” ให้อยู่ในร่องในรอยของข้อบังคับใหม่ที่ประกาศใช้

อุตสาหกรรม “ออนไลน์เฮลท์” และ “รถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” ก็อยู่ในข่ายที่จะถูก “บังคับให้เปลี่ยนแปลง” ครั้งนี้อยู่ด้วยเช่นกัน

แต่คำถามที่หลายคนยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ ความเคลื่อนไหวในทำนองนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรในระยะยาวต่อทิศทางของจีน

รัฐบาลจีนจะไปไกลถึงขนาดไหน จะถึงขนาดส่งผลให้จีน “โดดเดี่ยว” เศรษฐกิจของตนเองออกจากทั้งโลกที่ไม่ต้องการทำธุรกิจกับกิจการใด ๆ ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดหรือไม่

ถ้าถึงขนาดนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่จำกัดอยู่แค่เพียงชาวจีนและเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่อาจหมายถึงเศรษฐกิจของทั้งโลกอีกด้วย