ทำไมธนาคารกลาง “คิวบา” ถึง “ยอมรับ”บิตคอยน์

ถึงแม้รัฐบาลหลายประเทศมองว่า เทรนด์ของสกุลเงินดิจิทัล หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังเป็นภัยต่อระบบการเงิน “ดั้งเดิม” อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดธนาคารกลางของประเทศ “คิวบา” เตรียมยอมรับและออกมาตรการควบคุมคริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิตคอยน์ เพื่อวัตถุประสงค์ทาง “เศรษฐกิจและสังคม”

โดยก่อนหน้านี้ มีเพียงประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งอยู่แถบอเมริกากลางเช่นกันที่ได้อนุมัติ “กฎหมายบิตคอยน์” ซึ่งคือการให้คริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิตคอยน์ เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) ได้

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า หลังจากนี้ “ธนาคารกลางคิวบา” จะออกกฎเกณฑ์ใหม่ในการ “ยอมรับ” สกุลเงินดิจิทัล รวมถึงออกกฎหมายให้ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล ต้องมีใบอนุญาตจากธนาคารกลาง จึงจะสามารถดำเนินธุรกิจได้

ขณะเดียวกัน เอลซัลวาดอร์ได้เตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานบิตคอยน์อย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยทางการได้ติดตั้งตู้เอทีเอ็ม 200 แห่งทั่วประเทศ และเตรียมพร้อมสาขาธนาคาร 50 แห่ง เพื่อรองรับบิตคอยน์โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ในส่วนของเอลซัลวาดอร์ ยังจะสามารถใช้งานบิตคอยน์ร่วมกับแอปพลิเคชั่นของรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ที่สามารถใช้งานได้ทั้งประชาชนภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมทั้งยังสามารถแลกบิตคอยน์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้อีกด้วย โดยผู้ที่เพิ่งดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นจะได้บิตคอยน์มูลค่ากว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้การ “ยอมรับ” คริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิตคอยน์ สวนกระแสกับหลายประเทศทั่วโลก ที่ขณะนี้ธนาคารกลางและหน่วยกำกับดูแลทางการเงินทั่วโลกมองว่า กระแสของคริปโทฯที่ไม่ได้มีสินทรัพย์อะไรหนุนหลัง จะทำให้ติดตามการทำธุรกรรมการเงินได้ยากขึ้น ทั้งอาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้

และอาจเข้าไปขัดขวางการหมุนเวียนของเงินตราของประเทศนั้น ๆ หรือทำให้ระบบการฝากเงินในธนาคารเข้าสู่วิกฤต หมายความว่า ผู้คนอาจหันไปถือคริปโทฯแทน เพราะเป็นระบบการเงินทางเลือก

“ดร.รินาลินี ทานคา” อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตต ระบุว่า การออกกฎหมายดังกล่าวของทั้ง 2 ประเทศ เป็นผลมาจากการที่คริปโทฯได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก โดยตั้งแต่ช่วงรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ การส่งและรับเงินระหว่างประเทศคิวบาและสหรัฐเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลทรัมป์ต่อประเทศคิวบา

และปีที่แล้ว “เวสเทิร์น ยูเนี่ยน” ผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งเป็นช่องทางหลักสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดบริการที่คิวบามานานกว่า 20 ปี ก็ได้ปิดตัวทั้ง 400 สาขาในประเทศคิวบาทั้งหมด

โดยมาตรการคว่ำบาตร ทำให้ชาวคิวบาหันไปส่งเงินระหว่างประเทศแบบผิดกฎหมาย ซึ่งวิธีดังกล่าวเรียกว่า “มูลาส์” ขั้นตอนคือจะมีเอเย่นต์ที่ลักลอบเงินเข้าประเทศคิวบา แล้วกระจายเงินไปให้ชาวคิวบา อย่างไรก็ดี โควิด-19 ได้ทำให้การลักลอบเงินยังยากขึ้นไปด้วย

ดังนั้น หลังจากชาวคิวบาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงค่าเงิน “เปโซคิวบา” ที่อ่อนค่าลง ทำให้ชาวคิวบาหันไปถือคริปโทเคอร์เรนซีกันมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศเอลซัลวาดอร์ “กฎหมายบิตคอยน์” ทางรัฐบาลระบุว่า เป็นการเปิดช่องทางให้ชาวเอลซัลวาดอร์เข้าถึงระบบการเงิน หลังยังมีประชาชนมากถึง 70% ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ หวังจะเข้ามาช่วยผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“โบอาซ โซบราโด้” นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมฟินเทคระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศน่าจะยอมรับได้แล้วว่าคริปโทเคอร์เรนซีได้รับความนิยมมาก และสะท้อนให้เห็นว่า สำหรับประเทศคิวบาและเอลซัลวาดอร์ แทนที่จะ “ปฏิเสธ” คริปโทเคอร์เรนซีเหมือนประเทศอื่น ก็หันมายอมรับและควบคุมคริปโทฯแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อีกยาวไกลกว่าสถาบันการเงินจะสามารถยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีได้ อย่างที่คิวบา ถึงแม้กำลังเดินหน้าออกกฎเกณฑ์เพื่อรองรับและควบคุมคริปโทฯ แต่ทว่าก็มีการเตือนถึงความเสี่ยงของประชาชนในการถือสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงผู้ให้บริการธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สถาบันการเงินระดับโลก อย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก รวมถึงธนาคารกลางประเทศยักษ์ใหญ่ ได้แสดงความกังวลถึงการ “ยอมรับ” และใช้งานคริปโทเคอร์เรนซีในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากอาจเข้ามามีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจถูกใช้เป็นช่องทางทำกิจกรรมผิดกฎหมาย อย่างการเลี่ยงภาษี รวมถึงการฟอกเงิน เป็นต้น