จาก “ล็อกเวียดนาม” ถึง “แล้งบราซิล” ฝันร้าย “ตลาดกาแฟ” โลก

อุตสาหกรรมกาแฟโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนครั้งใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน “เวียดนาม” ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งออกเมล็ดกาแฟ ขณะที่ “บราซิล” ก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาของกาแฟในตลาดโลกขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเวียดนาม กำลังส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการส่งออกเมล็ดกาแฟต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ลดลงและข้อจำกัดด้านการขนส่ง

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่อันดับสองของโลก โดยเฉพาะสายพันธุ์โรบัสต้าที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกาแฟสำเร็จรูป สถานการณ์ในเวียดนามจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งสูงขึ้น โดยราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures benchmark) ของเมล็ดกาแฟโรบัสต้าพุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปีเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,043 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากช่วงต้นปี 2021

“การ์โลส เมรา” นักวิเคราะห์จาก “ราโบบังก์” ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านอาหารและการเกษตรของเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า เวียดนามกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่วัคซีนยังคงขาดแคลน ทำให้รัฐบาลต้องเลือกใช้วิธีการจำกัดการเดินทาง “ปัจจุบันมีความกังวลอย่างมากว่าผู้ผลิตจะไม่สามารถจัดส่งเมล็ดกาแฟไปยังต่างประเทศได้”

นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาเมล็ดกาแฟยังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ภัยแล้งในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟรายใหญ่อีกราย รวมถึงน้ำค้างแข็งนอกฤดูในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตเมล็ดกาแฟของบราซิลเสียหายอย่างมากและมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์อราบิก้าที่มีราคาฟิวเจอร์ในตลาดหุ้นนิวยอร์กสูงกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพุ่งขึ้นถึง 60% จากช่วงต้นปี 2021 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี

ราคาเมล็ดกาแฟที่ผันผวนดังกล่าว ยังสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ค้ากาแฟรายใหญ่ทั่วโลก อย่าง “เจเอ็ม สมักเกอร์” บริษัทอาหารของสหรัฐอเมริกา เจ้าของแบรนด์ “โฟลเจอร์ส” และ “ดังกิ้น คอฟฟี่” ที่ประเมินความเสี่ยงและปรับลดประมาณการผลกำไรปี 2021 ลงถึง 5% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ เจเอ็ม สมักเกอร์ยังปรับขึ้นราคาขายปลีกกาแฟเพื่อรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับ “Tchibo” แบรนด์กาแฟเยอรมนีและ “ยูซีซี คอฟฟี่” ของญี่ปุ่น ที่ต่างปรับขึ้นราคาขายปลีกด้วยเช่นกัน

ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง “สตาร์บัคส์” เชนร้านกาแฟระดับโลกของสหรัฐ ได้มีสัญญาป้องกันความเสี่ยงระยะยาวกับผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นการล็อกราคาต้นทุนเมล็ดกาแฟตลอดปีงบการเงิน จึงอาจไม่รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกในขณะนี้เท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุน “เบอเรนเบิร์ก” ของเยอรมนี คาดว่าราคาเมล็ดกาแฟยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2022 กว่าที่ผู้ค้าจะสามารถกลับมาทำกำไรและกู้คืนความเสียหายจากราคาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ได้

แต่คาดว่าสถานการณ์ผลผลิตในบราซิลมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือน ก.ย.นี้ แม้ว่าจะสามารถพลิกฟื้นผลผลิตเมล็ดกาแฟกลับมาได้เพียงบางส่วน ขณะที่เวียดนามยังคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดว่าจะไปในทิศทางใด