โลกเปลี่ยน ‘อยู่ร่วมโควิด’ ฝันสลาย ‘ผู้ติดเชื้อเป็น 0’

จากปีที่แล้ว ซึ่งโควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาด หลายประเทศต่างออกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งแทบจะหยุดชะงักกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่รวดเร็วและรุนแรง ทำให้การสกัดกั้นและทำลายล้างไวรัสให้หมดสิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้หลายประเทศเริ่ม “เรียนรู้” ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ปิดตายเศรษฐกิจ และไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปในการให้ผู้ติดเชื้อเป็น “ศูนย์” อีกต่อไป

แต่ก็ยังมีบางประเทศยังเดินหน้าล็อกดาวน์เพื่อพยายามให้ “ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์” กำจัดโควิด-19 ออกจากประเทศให้ได้

สเตรต ไทมส์ รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์มีการล็อกดาวน์เป็นบางช่วง เมื่อพบการระบาดของโควิด-19 โดยหลังมียอดผู้ติดเชื้อลดลง รัฐบาลก็ค่อย ๆ ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ลงมาเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี ช่วงกลางปีที่ผ่านมา “ลี เซียนลุง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ประกาศกลยุทธ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศใหม่ คือการ “อยู่ร่วมกับโควิด-19” โดยหลักสำคัญคือการเร่งระดมฉีดวัคซีนและจะไม่มีการล็อกดาวน์เหมือนที่ผ่านมาแล้ว

“ลอว์เรนซ์ หว่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถกำจัดไวรัสออกไปได้ พวกเราคงต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกยาวนาน จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัส เหมือนกับโรคระบาดอื่น ๆ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่และอีสุกอีใส

ถึงแม้สิงคโปร์จะได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรครบโดสแล้วถึง 80.5% แต่หว่องระบุว่า ทางการจะค่อย ๆ ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากยังต้องการให้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักสำหรับระบบสาธารณสุขมากเกินไป

นอกจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้ว สิงคโปร์จะเดินหน้า “เปิดประเทศ” ผ่านโครงการ “แทรเวลเลน” (Travel Lane) กับประเทศเยอรมนีและบรูไน ซึ่งจะเริ่มขึ้นวันที่ 8 กันยายนนี้ โดยจะเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้คนจากประเทศดังกล่าวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อเริ่มฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ประเทศออสเตรเลียซึ่งช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ หลังจากพบการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ก็ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดตามพื้นที่ และส่งสัญญาณจะไม่ปลดล็อกดาวน์จนกว่าผู้ติดเชื้อจะเหลือ “ศูนย์”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยถึงแม้ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่แทบจะไม่ลดลง แต่ทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์ และวิกตอเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเมลเบิร์น และซิดนีย์ วางแผนจะเริ่มปลดมาตรการล็อกดาวน์ ตามนโยบายของทางรัฐบาลกลางออสเตรเลีย ซึ่งได้เร่งกดดันให้แต่ละรัฐและดินแดนภายในประเทศ เร่งผ่อนปรนมาตรการหลังประชากรได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย 70-80% ถึงแม้จะยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ก็ตาม เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้

สำหรับรัฐวิกตอเรีย ทางการได้ยืดล็อกดาวน์ออกไปอีก 3 สัปดาห์ แต่จะเริ่มคลายล็อกดาวน์หลังมีการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่แล้วอย่างน้อย 1 โดสเกิน 70% ซึ่งคาดว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะถึงเป้าหมายภายใน 23 กันยายนนี้ ส่วนทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์คาดว่าจะฉีดวัคซีนถึง70% ได้ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานท้องถิ่นบางรัฐ เช่น ควีนส์แลนด์ และเวสเทิร์นออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ว่า อาจจะไม่ปลดล็อกดาวน์ตามแผนของรัฐบาลกลาง แม้แทบจะไม่มีผู้
ติดเชื้อ หากยอดผู้ติดเชื้อที่ซิดนีย์ยังพุ่งสูงขึ้นต่อไป

ขณะที่สหรัฐอเมริกาและหลาย ๆ ประเทศในแถบยุโรปก็ใช้แนวนโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด” เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

ในทางกลับกัน “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ประกาศล็อกดาวน์ระดับ 4 หรือขั้นสูงสุดสำหรับทั่วประเทศอีกครั้งเมื่อ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เพียงคนเดียวที่เมืองออกแลนด์

อาร์เดิร์นระบุว่า สาเหตุที่ต้องประกาศมาตรการอย่างเด็ดขาด เนื่องจากต้องการควบคุมสถานการณ์ให้รวดเร็วที่สุด แล้วจึงค่อย ๆ ผ่อนปรนมาตรการทีหลัง ดีกว่าการที่ปล่อยให้ไวรัสแพร่ระบาดไปก่อน เพราะจะต้องระมัดระวังกับสายพันธุ์เดลต้าเป็นพิเศษ

หลังจากนั้น ทางการนิวซีแลนด์ออกมาประเมินสถานการณ์ว่า “ล็อกดาวน์ได้ผล” ผู้ติดเชื้อลดลงและได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่พร้อมยืนยันว่า จะยังคงยึดแนวนโยบายในลักษณะนี้ต่อไป

รวมถึง “ประเทศจีน” ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากกว่า 2 พันล้านโดสแล้ว แต่ทางการยังเดินหน้าออกมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดตามพื้นที่ต่าง ๆ แม้จะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียงไม่กี่คน เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศ และถึงแม้นโยบายนี้จะเสี่ยงทำให้จีนต้อง “ปิดตายประเทศ” ไปอีกระยะยาว แต่เป็น “ราคา” ที่รัฐบาลยอมจ่าย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์