“ฝรั่งเศส” ในแบบ “มาครง” เคียงข้าง “อียู” รุกหนัก “เอเชีย”

เนื่องใน “วันชาติฝรั่งเศส” เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา “จิลส์ การาชง”เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เปิดให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ โดยระบุถึงจุดยืนฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง” ที่มุ่งเพิ่มบทบาทในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น พร้อมยกย่องศักยภาพประเทศไทยฐานะ “ฮับอาเซียน” ในโอกาสฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างฝรั่งเศสและไทย 160 ปี

“จิลส์ การาชง” ย้ำว่า ชัยชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอลมาครง ถือว่าเป็นการพลิกโฉมบทบาทของฝรั่งเศส ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรป กับการเบร็กซิต

และกระแส “ลัทธิโดดเดี่ยว” (Isolationism) ที่กำลังมาแรง โดยอ้างคำกล่าวของนายมาครงว่า “การเลือกตั้งฝรั่งเศส คือ จุดเริ่มต้นการเกิดใหม่ของฝรั่งเศส และหวังว่าจะเป็นการเกิดใหม่ของยุโรปเช่นกัน ผมต้องการสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่การกระจุกตัวอยู่เพียงในประเทศหรือภูมิภาคเท่านั้น พร้อมเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สหภาพยุโรป (อียู) เคียงข้างเยอรมนี โดยไม่จำกัดอียูอยู่แค่ฐานะตลาดร่วมเท่านั้น แต่จะให้ชาติสมาชิกกำหนดชะตากรรมร่วมกัน”

ประธานาธิบดีมาครงมุ่งเน้นการพัฒนาด้าน “นวัตกรรม” เป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ควบคู่กับการเสริมสร้างความร่วมมือให้กับประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยในหลากหลายภาคส่วน ซึ่งก่อนหน้านี้ตัวแทนบริษัทฝรั่งเศสและไทยได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ครอบคลุม 4 สาขา ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน สมาร์ทซิตี้ และพลังงานทางเลือก และยกย่องให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 8, 12 และ 13 ของฝรั่งเศส

ประเทศไทยเสมือน “ประตูการค้า” ไปสู่อาเซียน เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในยุโรป อีกทั้งฝรั่งเศสยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 11 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 ด้วยปัจจัยที่ทั้ง 2 ประเทศมีอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงเป็นโอกาสที่ฝรั่งเศสและไทยจะร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งนี้

“ฝรั่งเศสถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมขั้นสูง และการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีมาครง แสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น โดยแต่งตั้งนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ฝรั่งเศสเข้ามามีส่วนร่วมในเอเชียมากขึ้น ต่อเนื่องจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ที่เคยหารือความร่วมมือในหลายประเทศเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น” เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกล่าว

และว่าฝรั่งเศสต้องการจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและกระชับการค้ากับอาเซียน โดยสัดส่วนการค้าระหว่างฝรั่งเศสกับอาเซียนในปี 2015 มีมูลค่าเฉลี่ย 27,000 ล้านยูโร (ราว 30,956 ล้านดอลลาร์) หรือ 13.7% ของมูลค่าการค้าระหว่างอียูกับอาเซียน ฝรั่งเศสตั้งเป้าว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในอาเซียน จะทำให้เศรษฐกิจอาเซียนมั่นคงขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือที่จะทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสและอาเซียนโตไปด้วยกัน

โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ได้มีการประกาศข้อตกลงในหลักการของสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่น-อียู ที่ฝรั่งเศสเป็นคู่สัญญา แสดงถึงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่จะมีส่วนร่วมในเอเชียเคียงข้างอียู ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้สนับสนุนการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-อียู และไทย-อียูด้วย

ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฝรั่งเศสเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 83 ล้านคน ขณะที่อาเซียนก็เป็นภูมิภาคที่เป็นจุดหมายปลายทางใหม่ ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้สามารถตอบโจทย์ผู้มาเยือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เอื้อต่อภาคท่องเที่ยว จึงเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ที่ฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ฝรั่งเศสถือเป็นอันดับหนึ่งของยุโรปในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและเอเชียในเชิงการทำธุรกิจน่าจะเป็นการพัฒนาในขั้นตอนต่อไป โดยรัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนการที่จะหารือระดับรัฐบาลกับประเทศในเอเชียเร็ว ๆ นี้