“เดลต้า” ทุบเศรษฐกิจสหรัฐ จ้างงานลดฮวบ-กำลังซื้อทรุด

หลังจากฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจ “สหรัฐอเมริกา” ขยายตัวพุ่งกระฉูดเมื่อช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้กลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนโควิด-19 ระบาดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าซึ่งกำลังแพร่ระบาดรุนแรง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตพุ่งกระฉูด ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะไม่ขยายตัวอย่าง “ร้อนแรง” ตามที่นักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินเคยคาดการณ์ไว้ โดยนักเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีสหรัฐของปีนี้ว่า จะขยายตัวเพียง 5.5% ลดลงมาจากเดิม ซึ่งได้คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว 7%

รอยเตอร์สรายงานว่า ถึงแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ แทบจะกลับมาปกติในทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงฤดร้อน และยังเป็น “ไฮซีซั่น” ที่ผู้คนออกไปทำกิจกรรมอย่างการรับประทานอาหารนอกบ้าน ท่องเที่ยว รวมถึงไปร่วมการเข้าดูแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ตมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มเพียง 235,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และยังทำให้อัตราการว่าจ้างงานทั้งหมดน้อยกว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 หรือก่อนโควิด-19 ระบาดถึง 5.3 ล้านตำแหน่ง

จากก่อนหน้าที่เริ่มกลับมาเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจ สหรัฐมีปัญหาด้านตลาดแรงงาน ทั้งธุรกิจร้านอาหาร, ก่อสร้าง, เกษตรกรรม, ค้าปลีก และอีกหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

แต่หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศอีกครั้ง ซึ่งนำมาสู่การออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ถึงแม้จะไม่มีการล็อกดาวน์ ปิดเมืองทั้งหมดก็ตาม แต่ได้ทำให้ผู้บริโภคออกมา “ใช้ชีวิต” ข้างนอกน้อยลง โดยเฉพาะการเดินทางที่ลดลง ซึ่งได้ทำให้มีการชะลอการจ้างงานลงด้วย

มหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จากเดือนกรกฎาคมสู่เดือนสิงหาคมลดลงถึง 13.5% ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน

“โทมัส ไซม่อน” นักเศรษฐศาสตร์การตลาด สถาบันการเงินเจฟฟรีส์ ระบุว่า ตัวเลขดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผู้บริโภคสหรัฐที่รู้สึก “เศร้า” กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากเดิมที่เศรษฐกิจสหรัฐคึกคักหลังการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะนำมาสู่การใช้ชีวิตปกติเหมือนก่อนช่วงโรคระบาดได้

แต่ในที่สุดก็ต้องมาเผชิญกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป ผู้คนต้องกลับมาสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เรียนหรือทำงานที่บ้าน ยังไม่สามารถพบปะผู้คนเหมือนเดิมได้ และเหมือนกับว่าสิ่งที่เคยต้องทำช่วงที่โควิด-19 ระบาด จะกลายเป็น “นิวนอร์มอล” หรือสิ่งที่ต้องทำเป็นปกติต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกันสวัสดิการสำหรับคนว่างงาน 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ ซึ่งอยู่ภายใต้แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่โควิด-19 ระบาด ซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาถือเป็น “ที่สิ้นสุด” ของหน้าร้อนในสหรัฐ ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนที่โควิด-19 ระบาด และอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างเช่นในภาคบริการจะกลับมามีการว่าจ้างงานตามปกติ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งยอดผู้ป่วยจากโควิด-19 ยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้การจ้างงานลดลง จะทำให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนซึ่งยังไม่สามารถหางานทำได้ และจะได้รับผลกระทบจากมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง หมายถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐจะชะลอตัวลง

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐแทบจะทั้งหมด เป็นการแพร่ระบาดในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งรวมถึงเด็กนักเรียนที่เพิ่งเปิดเทอม และเริ่มเดินทางไปโรงเรียนเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ส่งผลให้การเปิดเทอมก็ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น หลายโรงเรียนเผชิญการระบาดยังต้องปิดลง ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดแรงงาน” ออกไปทำงานได้ เนื่องจากยังต้องเลี้ยงดูลูกอยู่ที่บ้าน

ตัวเลขการจ้างงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยังคงนโยบายช่วย “ประคอง” เศรษฐกิจ เช่นเดียวกับช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปีที่แล้ว อย่างเช่น การคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% รวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป จนกว่าสัญญาณการขยายตัวเศรษฐกิจจะดีกว่านี้

ขณะเดียวกันรัฐบาลของ “โจ ไบเดน” อาจจำเป็นต้องต่อมาตรการ หรือออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว “ร้อนแรง” เหมือนก่อนหน้านี้ไว้