ความไม่เท่าเทียม “วัคซีน” เศรษฐกิจโลกเสียหายหลายล้านล้าน

หลังการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมา ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว หลายประเทศได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศ ซึ่ง “ประเทศร่ำรวย” ส่วนใหญ่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประณาม “ประเทศร่ำรวย” จากการกักตุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทำให้ตอนนี้เกิดวิกฤต “ความไม่เท่าเทียม” ในการเข้าถึงวัคซีนของแต่ละประเทศ กลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า วิกฤต “ความไม่เท่าเทียม” ของการเข้าถึงซัพพลายวัคซีนนั้น นอกจากจะมีผลกระทบต่อการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากการติดเชื้อแล้ว ยังมีผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

รายงานจากหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ “อีโคโนมิสต์ อินเทลเลเจนซ์ ยูนิต” (EIU) ระบุว่า การที่ประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนและไม่กระจายวัคซีนไปทั่วโลก ส่งผลต่อประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เพียงพอ ซึ่งหากพบการระบาดของโควิดก็ต้องล็อกดาวน์ หยุดชะงักกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นเพียงทางออกเดียวที่หยุดการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ หากแต่ละประเทศไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 60% ของประชากร ภายในครึ่งปีหน้าอาจจะทำให้ทั้งโลกสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า

โดยทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และอาจสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.3% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศในแถบแอฟริกาใต้สะฮารา จีดีพีอาจจะหดตัวมากถึง 3%

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานอียูไอระบุด้วยว่า รายงานดังกล่าวเป็นการรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจแค่บางส่วนเท่านั้น และตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว อย่างด้านการศึกษา ซึ่งถึงแม้ประเทศร่ำรวยจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาเป็นการเรียนลักษณะ “รีโมตเลิร์นนิ่ง” หรือการที่เรียนจากที่ไหนก็ได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์

แต่สำหรับประเทศยากจน เด็กหลายล้านคนในประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีโอกาสเรียนในรูปแบบนั้น และทำให้หลุดออกจากระบบการศึกษาออกไปเลย

และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยระงับการฉีดวัคซีน “บูสเตอร์โดส” หรือการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ออกไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน โดยขอให้กระจายวัคซีนดังกล่าวไปยังประเทศยากจน เพื่อให้มีประชากรอย่างน้อย 10% ของทุกประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ที่จะให้ประชากรทั่วโลกเกิน 40% ฉีดวัคซีนก่อนสิ้นปี

โดยตอนนี้ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาพบว่า 53% ของประชากรทั้งหมดได้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว รวมถึงได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชากร 1.3 ล้านคน ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ประชาชนได้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 57% และยังมีบางประเทศอย่างฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่เริ่มการฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้ว

ในทางกลับกัน ประชาชนในทวีปแอฟริกามีเพียง 3% เท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนครบโดส ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานว่า กว่า 80% ของประเทศในทวีปแอฟริกาจะไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 10% ก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้

นอกจากนี้ทางอีไอยูระบุว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนสำหรับประชาชนได้ ต้องรอการบริจาคจากประเทศที่ร่ำรวยกว่า ซึ่งวิกฤตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของโครงการโคแวกซ์ (COVAX) นำโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อกระจายวัคซีนไปยังทั่วโลก เพื่อให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้

โดยอีไอยูมองว่าโอกาสที่จะกระจายวัคซีนไปยังแต่ละประเทศอย่างเท่าเทียมกันมีอยู่น้อยมาก โครงการโคแวกซ์ซึ่งเคยสัญญาไว้ว่าจะสามารถกระจายวัคซีนไปยังประเทศยากจนได้ กลับ “ล้มเหลว” เนื่องจากประเทศร่ำรวยไม่ได้บริจาควัคซีนตามเป้าหมายที่โคแวกซ์วางไว้

ทั้งนี้ โครงการโคแวกซ์เคยสัญญาว่าปีนี้จะมีการส่งวัคซีนทั้งหมด 2 พันล้านโดสไปยังทั่วโลก อย่างไรก็ดี ตอนนี้มีการส่งวัคซีนเพียง 217 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีการส่งวัคซีนภายใต้โครงการโคแวกซ์ไปยังประเทศที่ร่ำรวย อย่างเช่นสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย

นอกจากนี้วิกฤตการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมยังมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น กำลังการผลิตวัคซีนที่ต่ำกว่าแผน รวมถึงปัญหาด้านโลจิสติกส์ และการจัดเก็บวัคซีน รวมทั้งบางประเทศยังมีปัญหาลังเลการฉีดวัคซีน เพราะยังไม่มีความเชื่อมั่นมากพอ แต่หากประเทศร่ำรวยสามารถบริจาควัคซีนได้มากกว่านี้ และเลือกที่จะไม่กักตุนวัคซีน คงจะสามารถแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมวัคซีนได้มากยิ่งขึ้น