อีคอมเมิร์ซแข่งเดือด จับเทรนด์ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (buy now, pay later) หรือ “BNPL” กลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ของผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างมาก จากการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้สถาบันทางการเงิน กลายเป็นเทรนด์ร้อนแรงของตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่น่าจับตาในเวลานี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “เพย์พาล” (PayPal) ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ระดับโลก ประกาศเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงดีลเข้าซื้อกิจการ “เพดดี้” (Paidy) สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าสูงถึง 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยวางแผนจะใช้เพดดี้เป็นช่องทางในการบุกตลาดอีคอมเมิร์ซ และการชำระเงินออนไลน์ญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ทั้งนี้ “เพดดี้” เป็นสตาร์ตอัพมาแรงของญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นในเวลาไม่นาน ด้วยความโดดเด่นจากบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” โดยรองรับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และผ่อนชำระได้ทั้งช่องทางออนไลน์และการชำระเงินสดที่ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ส่งผลให้เพดดี้สามารถเข้าถึงลูกค้ากว่า 6 ล้านคนทั่วญี่ปุ่น ที่ส่วนมากยังคงนิยมการใช้เงินสดเป็นหลัก

ไม่เพียงในญี่ปุ่นเท่านั้น บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังเป็นบริการที่กำลังมาแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ที่ต่างเร่งปรับตัวเพื่อจับเทรนด์การตลาดดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ “สแควร์” (Square) บริษัทฟินเทครายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ก็เปิดเผยว่า เตรียมทุ่มเงินกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อกิจการของ “อาฟเตอร์เพย์” (Afterpay) ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์สัญชาติออสเตรเลีย ที่ให้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังด้วย นับเป็นการเข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่าสูงเท่าที่เคยมีมาของสแควร์

ขณะที่บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง “อเมซอน” (Amazon) ก็ประกาศร่วมมือกับ “แอฟเฟิร์ม” (Affirm) ฟินเทคสหรัฐ เตรียมเปิดตัวบริการผ่อนชำระสินค้าบนแพลตฟอร์มของตนเอง แต่จะจำกัดเฉพาะสินค้าบางรายการที่มีมูลค่า 50 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

ส่วน “แอปเปิล” ก็ร่วมมือกับสถาบันการเงินอย่าง “โกลด์แมน แซกส์” เปิดตัวบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังเช่นกัน โดยโกลด์แมน แซกส์จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อระยะสั้น ให้ลูกค้าสามารถใช้บริการแบ่งชำระสินค้าปลอดดอกเบี้ยผ่านแพลตฟอร์มการชำระสินค้า “แอปเปิลเพย์” ได้ทันที

ทั้งนี้ บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้รับความนิยมมากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน

ฟอร์บสรายงานการสำรวจของ “คอร์เนอร์สโตน แอดไวเซอรี่” บริษัทบริหารความมั่งคั่งในสหรัฐระบุว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันกลุ่ม “เจนซี” หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 9-24 ปี ใช้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า จาก 6% ในปี 2019 เป็น 36% ในปี 2021 ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-38 ปี หรือกลุ่ม “มิลเลนเนียล” ก็ใช้บริการดังกล่าวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 17% ในปี 2019 เป็น 41% ในปี 2021

รายงานยังระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังในภาพรวมของสหรัฐปีนี้ คาดว่าจะพุ่งถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราว 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็นผลจากสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ช่องทางอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น