เมื่อกระบวนการผลิต “ชิป” ทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล

ท่ามกลางปัญหาขาดแคลน “เซมิคอนดักเตอร์” อย่างหนัก จากโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้โรงงานลผลิตชิปหลายแห่งก็ต้องหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเครื่องเล่นเกมพุ่งกระฉูด ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ล้วนแต่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน “เซมิคอนดักเตอร์” ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าตามเทรนด์ “รักษ์สิ่งแวดล้อม” อย่างเช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม เป็นต้น แต่ทว่ากระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์นั้นกลับไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลย

เดอะ การ์เดี้ยน รายงานว่า กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้พลังงานและน้ำมหาศาล โดยโรงงานผลิตหนึ่งแห่งต้องใช้น้ำหลายล้านแกลลอน รวมทั้งยังสร้างของเสียที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมปริมาณมากด้วย

หลังจากเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของ “แอปเปิล” ได้ออกมายืนยันว่า จะให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต “เหลือศูนย์” ในปี 2050 รวมถึงเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ให้เป็นกระบวนการที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด และเป็นไปอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตให้ “เหลือศูนย์” จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก นอกจากนี้ การใช้ไฟฟ้าของบริษัททีเอสเอ็มซี เพียงบริษัทเดียว คิดเป็น 5% ของการใช้ไฟฟ้าของทั้งเกาะไต้หวัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2022 ทีเอสเอ็มซีจะใช้ไฟฟ้าสูงถึง 7.2% ของทั้งเกาะ

ขณะเดียวกันเมื่อปี 2019 ทีเอสเอ็มซีใช้น้ำมากถึง 63 ล้านตัน และการใช้น้ำของบริษัทได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ หลังจากไต้หวันเกิดภัยแล้งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภัยแล้งที่หนักที่สุดของไต้หวันในรอบครึ่งศตวรรษ ส่งผลให้ทีเอสเอ็มซีไปมีความขัดแย้งการแย่งน้ำกับเกษตรกรของไต้หวันด้วย

ส่วนที่สหรัฐอเมริกา โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 1 แห่งของ “อินเทล” ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ สร้างของเสียมากถึง 15,000 ตัน ซึ่งประมาณ 60% จากของเสียเหล่านี้มีความอันตราย นอกจากนี้ อินเทลยังได้ใช้น้ำสะอาดมากถึง 927 ล้านแกลลอน รวมถึงยังใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึง 561 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

“อูดิท กุปตา” นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดกล่าวว่า ในการผลิตและการใช้งานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ถือว่าสร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

ทั้งนี้ ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และกลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น

โดยภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทำให้รัฐบาลหลายประเทศมีการออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างที่สภาคองเกรสสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมาย “ชิปส์ ฟอร์ อเมริกา แอ็กต์” 
(Chips for America Act) มูลค่ามากถึง 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

ส่วน สหภาพยุโรป (อียู) ได้มีการเสนอร่างกฎหมายพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมกับเป้าหมายส่งเสริมให้อียูครองตลาดเซมิคอนดักเตอร์ 20% ของทั่วโลก ภายในปี 2030 ซึ่ง “อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอียู

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะนำมาสู่การผลิตก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และอาจเข้าไปทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐและอียูได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และลดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050

ถึงแม้การขยายตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทั้ง “ทีเอสเอ็มซี” และ “อินเทล” ต่างก็มีแผนการเพื่อให้กระบวนการผลิตนั้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดยทีเอสเอ็มซีได้เซ็นสัญญา 20 ปี กับบริษัทพลังงาน “ออร์สเทด” เพื่อซื้อพลังงานสำหรับกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง ที่ทางออร์สเทดกำลังสร้างขึ้นที่ช่องแคบไต้หวัน ส่วน “อินเทล” ก็ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 บริษัทจะหันมาใช้พลังงานทดแทนได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ถึงแม้ในระยะสั้นกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากผู้ผลิตรายใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการนี้ได้ และผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็อาจจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน