อียูจ่อ “เอาคืน” ออสเตรเลีย หลังฉีกสัญญา “เรือดำน้ำ”

FILE PHOTO: (File Photo) A Rivercat ferry passes by the Royal Australian Navy's Collins-class submarine HMAS Waller as it leaves Sydney Harbour on May 4, 2020. The Australian government has considered extending the life of the Collins class as it examines the fate of its next-generation sub program./File Photo

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกได้จับตามองสถานการณ์ของโลกตะวันตก หลังประเทศออสเตรเลีย “ฉีกสัญญา” การสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซลที่ออสเตรเลียได้เซ็นไว้กับฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท)

โดยออสเตรเลียหันไปร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร (ยูเค) ในโครงการ “ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงออคุส” (Aukus) ในการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นเทคโนโลยีทางการทหารชั้นสูงแทน

รอยเตอร์สรายงานว่า ประเทศฝรั่งเศสไม่พอใจกับการที่ออสเตรเลียฉีกสัญญาอย่างมาก และออกมา “ตอบโต้” สหรัฐและออสเตรเลีย โดยระบุว่าเหมือนถูกพันธมิตร “หักหลัง”

ทั้งนี้อีกสาเหตุที่ทำให้ประเทศฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมาก เพราะทางการฝรั่งเศสเพิ่งได้รับรู้การยกเลิกสัญญา หลังการประกาศจับมือกันของสหรัฐกับออสเตรเลียไม่กี่ชั่วโมง

สถานการณ์ดังกล่าว นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยทางฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมาก ถึงขนาดที่เรียกทูตประจำอยู่ที่ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกากลับประเทศ

ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ก็ตำหนิการกระทำของออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ในการฉีกสัญญาดังกล่าว

“ชารลส์ มิเชล” ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า สำหรับพวกเรา ความโปร่งใส และความซื่อสัตย์ ถือเป็นหลักการสำคัญ ที่จะทำให้สร้างความร่วมมือ และการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งขึ้น

และจากเหตุการณ์ดังกล่าว “เคลมอนต์ โบน” รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปของประเทศฝรั่งเศส ออกมาระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ภูมิภาคยุโรปต้องคำนึงถึงในตอนนี้คือ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สหภาพยุโรปต้องปรับกลยุทธ์ รวมกันเป็นหนึ่งในฐานะยุโรปให้มากขึ้น และลดการพึ่งพาชาติมหาอำนาจให้น้อยลง ซึ่งเป็นการโจมตีถึงเหล่ามหาอำนาจพันธมิตรของประเทศตะวันตกโดยตรง ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีกสัญญาดังกล่าว

ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนเคียงข้างฝรั่งเศส ต่อต้านการล้มดีลเรือดำน้ำ ทางการอียูกำลังหาทาง “เอาคืน” ประเทศออสเตรเลีย ด้วยการพิจารณาว่า “ข้อตกลงการค้าเสรีการค้าระหว่างอียู และออสเตรเลีย” ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาหารือ หลังจาก “ถูกหักหลัง” แบบนี้ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม “แดน เทฮาน” รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย ได้เรียกร้องให้มีการเดินหน้าหารือข้อตกลงทางการค้าต่อไป

“ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอียูและออสเตรเลีย เป็นสิ่งที่จะดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อทางออสเตรเลียแล้ว ยังเป็นวิธีที่อียูจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับอินโด-แปซิฟิก ซึ่งกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก” แดน เทฮานกล่าว

ทั้งนี้ถึงแม้ฝรั่งเศสจะไม่พอใจอย่างมาก แต่ทางการออสเตรเลียก็ได้ออกมาแสดงจุดยืน สนับสนุนถึงการตัดสินใจดังกล่าว

พร้อมกับเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า “การฉีกสัญญา” ยกเลิกสร้างเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น และทางการฝรั่งเศสก่อนหน้านี้รู้มาก่อนแล้วว่า จะมีการฉีกสัญญา เนื่องจากว่า การก่อสร้างเรือดำน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายที่บานปลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนล่าสุดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ “เอ็มมานูเอ็ล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

โดยทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะพบกันในเดือนหน้า เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

และทั้ง 2 ประเทศยังร่วมกันแถลงการณ์ว่า ผู้นำทั้งคู่กำลังจะหารือกัน เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จะรับประกันความเชื่อมั่นระหว่างกันอีกด้วย

“เจน ซากี” โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ทางสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส จะมีการหารือร่วมกันต่อไป โดยไบเดนหวังว่าหลังจากนี้การหารือสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์อันยาวนานกับฝรั่งเศส ให้กลับสู่ภาวะปกติให้ได้

ทั้งนี้ เหล่านักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด อาจนำมาสู่ความขัดแย้งขั้นรุนแรงที่สุด ระหว่างประเทศตะวันตกในรอบหลายทศวรรษ และอาจเข้าไปมีผลกระทบกับด้านอื่นเพิ่มเติม เหมือนกับตอนนี้ที่ทางอียูลังเลเจรจาข้อตกลงการค้ากับทางออสเตรเลีย

รวมถึงอาจจะเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ประเทศตะวันตกเสียงแตกและไม่สามารถร่วมมือกันโค่นมหาอำนาจ “จีน” ได้